หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก
ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท. 64 ที่
(091 8713937) หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com นะครับ
หมายเหตุ PSTHAILAW ปี2564(2020) มีคดีฉ้อโกงธรรมดา 3คดี
ก. 2คดีแรกเป็นคดีฉ้อโกง ที่ซับซ้อนมีรายละเอียดมาก ทุนทรัพย์ที่เสียหายสูง
และทนายหลายคนที่ทำงานกันเป็นทีม ต้องร่วมตัดสินใจร่วมกันกับผู้เสียหาย ว่าจะแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน หรือจะฟ้องคดีเองต่อศาลอาญา ในกทม กับศาลจังหวัดทางเหนือ
ข.มี1คดี ที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สอบสวนเสร็จอัยการส่งฟ้องแล้ว อัยการแนะนำผู้เสียหายให้หาทนายความ ให้จ้างทนายความช่วยทำคดีเป็นทนายของโจทก์ร่วม
ค.คดีประเภทหลัง ตาม ข.นี้ หากเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูง คดีมีความซับซ้อน ทนายของผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วม จะมองเห็นข้อบกพร่อง ในคำฟ้อง ในการสอบสวน จะได้ช่วยปรับแก้ข้อบกพร่องให้ แม้ในใจทนายอยากเข้าไปช่วยดูตั้งแต่ต้น คดีจะได้ออกมาดูดีสักหน่อย
ง หาก ต้องตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกฉ้อโกง และคดีมีความซับซ้อน มีทุนทรัพย์ที่เสียหายสูงจึงควรปรึกษาทนายที่รู้จักกันตั้งแต่ต้นนะครับ
จ.และหากต้องตกเป็นจำเลยในคดีฉ้อโกง รีบหาทางประกันตัว ออกมาก่อน แล้วค่อยปรึกษาทนาย
หากไม่ชัดเจนว่าจะต่อสู้คดี อย่างไร พึงระวังในการให้ทนายเขียนข้อความที่เป็นเหตผลให้ศาลพิจารณาลงในคำร้องขอปล่อยชั่วคราว หรือคำร้องขอประกันตัว เพราะเหตผลที่เขียนลงไปในคำร้องขอปล่อยชั่วคราว จะผูกมัดเป็นข้อมูลในการวางแผนต่อสู้ ที่ต้องเขียนในคำให้การ ซึ่งคำให้การอาจขัดแย้งกับ คำร้องขอปล่อยชั่วคราว
ทนาย น้อย ปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64 โทร. 081 1463778 สืบค้นแล้วมีข้อมูล ดังนี้
A องค์ประกอบ
(1) โดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
(2) โดยการหลอกลวงเช่นว่านั้น ได้ทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
B การหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงฯ
โดยทั่วไปข้อความหรือข้อเท็จจริงที่จะเป็นเท็จได้ ต้องเป็นกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน ดังนี้ คำยืนยันถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่ใช่คำหลอกลวง เช่น หมอดูทำพิธีเสริมดวงให้ผู้เสียหายโดยเรียกค่าครู โดยยืนยันว่าจะทำให้ขายที่ดินได้ ก็ไม่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 3074/2539
ฎีกาที่ 3074/2539 จำเลยชวนโจทก์ร่วมซื้อคอนโดมิเนียม ตึกแถว และที่ดิน โดยยืนยันว่าอีก 4 เดือนจะมีผู้ซื้อต่อ การที่จำเลยให้ผู้เสียหายทำพิธีเสริมดวงและเรียกค่าครูโดยยืนยันว่าจะทำให้ดวงดี ขายตึกแถวที่ดินได้ หรือบุตรจะมีบุญบารมีสูงกว่าบิดามารดา ผู้เสียหายกับสามีจะไม่ต้องหย่ากัน ล้วนเป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้น คำยืนยันดังกล่าว ไม่ใช่คำหลอกลวง แต่เป็นคำคาดการณ์ที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเข้าทำพิธีตามคำแนะนำและเสียค่าใช้จ่ายจึงมิได้เป็นผลจากการหลอกลวง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
B1 แต่ถ้าจำเลยอ้างพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ ดูฎีกาที่ 219/2531
ฎีกาที่ 219/2531 จำเลยไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์แต่ได้ขายน้ำมันพรายให้กับผู้เสียหายในราคา 300 บาท อ้างว่าจะช่วยให้ค้าขายดี นอกจากนี้จำเลยยังคอยบอกผู้เสียหายว่าทำผิดผีต้องทำพิธีไหว้อาจารย์ จนผู้เสียหายยอมมอบเงินและทรัพย์สินอื่นรวมหลายหมื่นบาทให้จำเลยไปเพื่อทำพิธีดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
B2 เปรียบเทียบกับฎีกาที่ 1042/2535
จำเลยเลื่อมใสในความสามารถของคนรักษาโรคเพราะเคยรักษาโรคตนเองทุเลา จึงแนะนำผู้อื่นให้ไปรักษา ไม่เป็นการหลอกลวง ดูฎีกาที่ 1042/2535
ฎีกาที่ 1042/2535 จำเลยที่ 4 เคยรักษาโรคเบาหวานกับจำเลยที่ 1 โดยเชื่อว่าเป็นแพทย์สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ต่อมาอาการเจ็บป่วยของจำเลยที่ 4 ทุเลาลง ทำให้เกิดความเลื่อมใสในความสามารถรักษาโรคของจำเลยที่ 1 จึงได้แนะนำให้ ล. รักษาโรคกับจำเลยที่ 1 จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนาหลอกลวง ล. ให้รักษาโรคกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
B3 การที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะความจริงเป็นเช็คของคนอื่น เป็นข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ดังนี้ จำเลยผิดฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 940/2503 (ประชุมใหญ่)
ฎีกาที่ 940/2503 (ประชุมใหญ่) ฟ้องหาว่าจำเลยฉ้อโกงโดยบรรยายฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยแสดงเท็จโดยออกเช็คแลกเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แต่ความจริงกลับเป็นเช็คในบัญชีชื่อบุคคลที่สาม ลายเซ็นชื่อในเช็คไม่ใช่ลายมือชื่อบุคคลที่สาม ทั้งไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค อีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยออกเช็คว่าเป็นของจำเลยแต่ความจริงกลับเป็นเช็คของคนอื่นจึงไม่มีการจ่ายเงินและฟ้องกล่าวพร้อมด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ย่อมเป็นฟ้องฐานฉ้อโกง
B4 นำหลักฐานการรับจำนำของผู้อื่นไปขอไถ่ทรัพย์ที่จำนำ โดยไม่แสดงออกว่าหลักฐานนั้นไม่ใช่ของตน เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ดูฎีกาที่ 5319/2547
ฎีกาที่ 5319/2547 การที่ผู้เสียหายนำสร้อยคอไปจำนำ เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำได้ออกหลักฐาน (ใบสำคัญการจำนำ) ให้ผู้เสียหายว่าเป็นการ “ขายฝาก” โดยมีกำหนดไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายใน 1 เดือน กรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอที่รับจำนำไว้จึงตกอยู่แก่เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำจนกว่าผู้เสียหายจะไถ่คืน ดังนั้น การที่จำเลยนำหลักฐานที่เจ้าของร้านทองออกให้แก่ผู้เสียหายไปขอไถ่สร้อยคอของผู้เสียหายจากผู้รับจำนำโดยไม่แสดงออกให้แจ้งชัดว่าตั๋วไถ่ไม่ใช่ของตน เป็นเหตุให้ผู้รับจำนำหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่แท้จริงจึงได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอของ ผู้เสียหายให้จำเลยไปเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 341
B4.1 จำเลยไม่มีเจตนาจะซื้อสินค้าอย่างแท้จริงแต่ได้วางแผนเป็นขั้นตอนว่าจะซื้อสินค้าโดยไม่มีเจตนาจะใช้ราคาให้ผู้ขาย ผิดฐานฉ้อโกง ไม่ใช่ลักทรัพย์ ดูฎีกาที่ 633/2546
ฎีกาที่ 633/2546 การที่จำเลยทั้งสามกับ ย. ใช้อุบายทำทีไปติดต่อขอซื้อผ้าจากโจทก์ร่วมทั้งที่จำเลยทั้งสามกับ ย. มิได้เตรียมเงินมาให้พร้อม จำเลยทั้งสามหลอกให้โจทก์ร่วมขนผ้าขึ้นรถที่เตรียมมาแล้วจึงบอกว่าจะชำระค่าผ้าก่อน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือให้ตามไปเก็บจาก ย. แต่บุตรสาวของโจทก์ร่วมร้องไห้ภริยาของโจทก์ร่วมเข้าไปดูแลบุตรสาวภายในร้าน จำเลยทั้งสามกับ ย. ก็พากันนำรถบรรทุกผ้าออกไปจากร้านของโจทก์ร่วมทันที โดยยังไม่ทันชำระค่าผ้าให้แก่โจทก์ร่วม กรณีเห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสามกับ ย. ร่วมกันมีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจำเลยทั้งสามกับ ย. จะซื้อผ้าจริงมาแต่ต้นด้วยการวางแผนการเป็นขั้นตอนและไม่มีเจตนาจะใช้ราคาผ้าให้แก่โจทก์ร่วมเลย และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้น จำเลยทั้งสามกับ ย. ได้ผ้าจากโจทก์ร่วมผู้ถูกหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341 มิใช่ลักทรัพย์
B5 ผู้ขายนำที่ดินมาขายโดยผู้ซื้อรู้ความจริงอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ขายจึงไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้ ถือเป็นการซื้อขายสิทธิครอบครอง ผู้ขายไม่ผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 50–51/2553
ฎีกาที่ 50-51/2553 การที่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 8 โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่ซื้ออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยที่ 8 ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้ การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยที่ 8 จึงเป็นการซื้อขายสิทธิครอบครองในที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 8 มอบที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองและผู้เสียหายที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 8 ไม่เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองและไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสอง
ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย น.บ.ท.59 โทร. (097 2590623)
C ทำให้ได้ทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามฯ
1. ต้องเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินไป
การหลอกลวงที่จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องกระทำไปเพื่อให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือ บุคคลที่ 3 ส่งมอบทรัพย์สินให้ มิฉะนั้น ไม่ผิดฐานฉ้อโกง เช่น ผู้ขายที่ดินหลอกนายหน้าว่ายังขายที่ดินไม่ได้เพื่อไม่ต้องเสียค่านายหน้าซึ่งมีสิทธิจะได้รับจากผู้ขาย ผู้ขายไม่ได้ทรัพย์สินไป ไปจากนายหน้า ไม่ผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 2728/2557 , 1279/2517
ฎีกาที่ 2728/2557 แม้จำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้อง แต่การหลอกลวงมิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวง เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ.มาตรา 341,342 , 343 คดีไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง
C1 ข้อสังเกต เรื่องนี้ โจทก์ฟ้องว่าการที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้รับค่านายหน้าจากการขายที่ดินจากจำเลยทั้งสอง มิใช่การหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 1279/2517 ประกอบ
ฎีกาที่ 1279/2517 โจทก์เป็นนายหน้าหาคนซื้อที่ดินให้จำเลยที่ 1 โจทก์ชักนำให้จำเลย ที่ 2 มาซื้อ จำเลยที่ 2 ชักนำบุคคลที่ 3 มาซื้ออีกต่อหนึ่ง จนจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินไปแต่จำเลย
ที่ 1 ปกปิดความจริงว่ายังไม่ได้ขายให้ใคร ดังนี้ การหลอกลวงของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำให้ได้เงินไปจากโจทก์ ส่วนเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ว่าตนควรจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ไม่มีมูลเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง
C2 ข้อสังเกต การหลอกลวงของผู้กระทำจะต้องเป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันหมายถึงทั้งวัตถุมีรูปร่างและวัตถุไม่มีรูปร่างที่มีราคาและถือเอาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ซึ่งรวมถึงสิทธิต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยสิทธิหรือบุคคลสิทธิ แต่คงไม่รวมไปถึงแรงงาน บริการหรือประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ดังนี้ ถ้าผลจากการหลอกลวงทำให้ได้รับบริการการจอดรถโดยไม่ต้องเสียเงินค่าจอด (ดูฎีกาที่ 7264/2543) หรือทำให้ได้รับบริการขนส่งโดยไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ไม่เป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ไม่ผิดฐานฉ้อโกง (ดูฎีกาที่ 1733/2516)
ฎีกาที่ 4046/2532 ทรัพย์สินหมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างและทรัพย์หมายถึงวัตถุมีรูปร่างตาม ป.พ.พ. 137 , 138 ดังนั้น เอกสารสัญญาแม้จะเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวก็ถือว่าเป็นทรัพย์ เมื่อจำเลยหลอกลวงเอาเอกสารสัญญาของโจทก์ไป จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 341
C3 ผลจากการหลอกลวงทำให้ได้รับบริการที่จอดรถยนต์โดยไม่ต้องเสียค่าจอด หาใช่ทรัพย์สินไป ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 7264/2543
ฎีกาที่ 7264/2543 โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยขับรถยนต์ของโจทก์ลงจากอาคารจอดรถของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง แล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยงต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่เก็บค่าบริการจอดรถ โจทก์จึงไม่เสียค่าจอดรถแก่จำเลยโดยทราบดีว่าจำเลยมีข้อห้ามมิให้พนักงานนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถโจทก์ได้รับผลเพียงการบริการจอดรถจากจำเลย หาได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยไม่ จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341
C4 ฎีกาที่ 1733/2516 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่ารถยนต์ของจำเลยขัดข้อง จึงว่าจ้างรถยนต์ผู้เสียหายไปส่ง เมื่อส่งเรียบร้อยแล้วจะให้ค่าขนส่ง 1,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อ ได้รับจ้างขนส่งให้ ดังนี้จำเลยได้รับผลเพียงการขนส่งจากผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหาย ส่วนเงินค่าขนส่ง 1,000 บาท ที่จำเลยไม่ได้ชำระให้ผู้เสียหาย เป็นทรัพย์สินที่ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาจากจำเลยภายหลังเมื่อขนส่งให้จำเลยถึงที่ที่ตกลงกันแล้ว กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
C4.1 เปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538
ฎีกาที่ 1508/2538 จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินแล้วได้มอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋วหรือมอบให้แก่ผู้อื่นซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทาง และเมื่อตั๋วเครื่องบินปลอมได้ถูกนำไปใช้ในการเดินทางแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอม และการที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินด้วยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อได้เดินทางไปโดยจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋ว แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่าจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้วอันเป็นความเท็จ ทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องชำระเงิน ถือว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน
C5 ข้อสังเกต แม้จะถือว่าเป็นการหลอกลวงเจ้าของสายการบินเพราะเอาตั๋วปลอมไปใช้โดยสารเครื่องบิน แต่ผลที่ได้รับจากการหลอกลวงก็คงเป็นเพียงบริการที่ได้รับจากการโดยสารเครื่องบินโดยไม่ต้องเสียเงินค่าโดยสารเท่านั้น จำเลยหรือผู้มีชื่อจึงไม่ได้ทรัพย์อะไรไปจากเจ้าของสายการบิน อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ส่วนที่จำเลยทำให้ผู้มีชื่อไม่ต้องชำระเงินค่าโดยสารก็เป็นเงินของจำเลยหรือผู้มีชื่อเอง ไม่ใช่เงินของเจ้าของสายการบินผู้ถูกหลอกลวง กรณีจึงไม่น่าแตกต่างจาก ฎ.1733/2516
C5.1 แต่หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่าตาม ฎ.1733/2516 จำเลยหลอกลวงแล้วได้รับบริการขนส่งจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับจ้างโดยตรง อันถือได้ว่าบริการดังกล่าวเป็นผลจากการหลอกลวง แต่ตาม ฎ. 1508/2538 การจะโดยสารเครื่องบินต้องจ่ายเงินซื้อตั๋วก่อน เมื่อมีตั๋วแล้วจึงจะมีสิทธิโดยสารเครื่องบินได้ การปลอมตั๋วเป็นการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งสิทธิที่จะได้โดยสาร (ซึ่งเป็นสิทธิที่มีราคาและถือเอาได้จึงเป็นทรัพย์สิน) เมื่อได้สิทธิโดยสารแล้วจึงจะได้รับการการขนส่งเป็นผลสุดท้าย ดังนั้น การปลอมตั๋วจึงเป็นการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งสิทธิในการโดยสารซึ่งเป็นทรัพย์สิน (หาใช่ได้มาซึ่งบริการการขนส่งโดยตรงไม่) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
C5.2 ผลของการหลอกลวงทำให้ผู้ถูกหลอกลวงรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกสมาคม ไม่ทำให้จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 3667/2542
ฎีกาที่ 3667/2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันนำ ธ. มาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โจทก์ร่วม โดยแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่า ธ. คือ บ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ จึงรับ บ. เป็นสมาชิก ความจริงแล้วขณะนั้น บ. ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ การหลอกลวงมีผลเพียงให้โจทก์ร่วมรับ บ. เข้าเป็นสมาชิกเท่านั้น หาได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ร่วมไม่ แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 92,000 บาท แต่ก็เนื่องจาก บ. ถึงแก่กรรม หาใช่เนื่องจากจำเลยทั้งสองหลอกลวงไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
C5.3 ข้อสังเกต เรื่องนี้ จำเลยหลอกลวงตอนนำ ธ. มาสมัครสมาชิกสมาคมฯ ผลของการหลอกลวงก็คือการได้รับเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมดังกล่าว ส่วนการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้จำเลยที่ 1 ก็เนื่องจากความตายของ บ. ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ไม่ใช่เกิดจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ทรัพย์สินใดจากสมาคมฯ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ทนายนุ้ย สุพรรณี สนมศรี น.บ.ท.71 โทร. (082 5422249)
D ต้องได้ทรัพย์สินไปด้วยความยินยอมของเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน
ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นกรณีที่ผู้เสียหายมอบทรัพย์ให้ผู้กระทำผิดด้วยความยินยอมหากกล่าวโดยนัยทางกฎหมาย ความผิดฐานฉ้อโกงไม่ใช่การแย่งกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองแต่เป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยการโอนให้เพราะถูกหลอกลวง (ต่างจากฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์และแย่งการครอบครอง) มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ผู้อื่นไปโดยพลการและทุจริต ดูฎีกาที่ 394/2553 , 16889/2555
ฎีกาที่ 394/2553 การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง การที่จำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริงเบิกเงินไปจากโจทก์ร่วม มิใช่เอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่าย การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ฎีกาที่ 16889/2555 จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการร้านห้างหุ้นส่วนสามัญของผู้เสียหายบอกพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำและแหวนพลอยเป็นของลูกค้าผู้เสียหายที่นำมาจำนำ พนักงานของผู้เสียหายได้มอบเงินของผู้เสียหายให้แก่จำเลยไปแล้วจำเลยเอาเงินนั้นไป มิใช่เป็นการเอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341
D1 จำเลยเอาป้ายราคาสินค้าที่มีราคาสูงกว่าออก แล้วเอาป้ายราคาสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าไปติดแทนเพื่อจะได้ซื้อสินค้านั้นในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นกรณีผู้ขายยินยอมมอบสินค้าให้จำเลยเพราะถูกหลอกลวง เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 6892/2542 (ประชุมใหญ่)
ฎีกาที่ 6892/2542 (ประชุมใหญ่) การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการ โดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง การที่จำเลยเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาท ออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทนแล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย จึงมิใช่เอาโคมไฟตั้งโต๊ะไปโดยพลการโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริตโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าราคาโคมไฟตั้งโต๊ะมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
D2 ข้อสังเกต เรื่องนี้ พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะให้แก่จำเลยโดยเข้าใจว่าโคมไฟตั้งโต๊ะมีราคา 134 บาท ตามจำนวนเงินที่จำเลยมอบให้มิใช่จำเลยได้โคมไฟตั้งโต๊ะไปโดยพลการ กรณีต่างจากฎีกาที่ 3935/2553 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยเอาสุราต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงไปใส่ในลังน้ำปลา แล้วนำเงินเท่ากับราคาน้ำปลาไปชำระซึ่งมีราคาถูกกว่า พนักงานของผู้เสียหายเข้าใจว่าสิ่งที่มอบให้จำเลยคือน้ำปลา มิใช่สุราต่างประเทศจึงถือได้ว่าจำเลยเอาสุราต่างประเทศไปโดยพลการ มิใช่ผู้เสียหายมอบให้ จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มิใช่ฉ้อโกง ดูฎีกาดังกล่าว
ฎีกาที่ 3935/2553 จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหาย การที่จำเลยเอาสุราต่างประเทศใส่ในลังน้ำปลาแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานของผู้เสียหายเท่ากับราคาน้ำปลา เป็นเพียงกลอุบายของจำเลยเพื่อเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น โดยพนักงานซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
ทนายฟิว กาญจนภัสส์ เตชาพุฒิพงศ์ น.บ.ท.70 โทร. (092-8747847)
E หลอกลวงให้ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
ที่จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงอีกประการหนึ่ง คือหลอกลวงให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เช่น จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าเป็นเจ้าของที่ดินให้โจทก์รับรองหลักทรัพย์ เพื่อยื่นขอประกันตัว ล. ต่อศาล จนโจทก์หลงเชื่อและทำหนังสือรับรองหลักทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิให้ จน ล. ได้รับการประกันตัว ผิดฐานฉ้อโกง (ฎ. 863/2513)
ลูกหนี้หลอกลวงว่าได้ชำระหนี้ให้แล้ว เจ้าหนี้จึงได้ทำหนังสือสลักหลังปลอดจำนองซึ่งเป็นเอกสารสิทธิให้ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 6512/2539
ฎีกาที่ 6512/2539 จำเลยเป็นหนี้เงินกู้และจำนองโจทก์ร่วม ได้ติดต่อ ส. พนักงานของโจทก์ร่วมอ้างว่าชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว ขอไถ่จำนองเป็นการหลอกลวง ส. ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ จึงได้ทำหนังสือสลักหลังปลอดจำนองอันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งเป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์ร่วมจะสามารถดำเนินการเพิกถอนการไถ่ถอนจำนองได้ก็ไม่ทำให้การกระทำซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้วกลับเป็นไม่มีความผิด
หลอกลวงให้ลงชื่อในแบบพิมพ์สัญญาต่าง ๆ แม้ยังไม่ได้กรอกข้อความก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 1962/2531
ฎีกาที่ 1962/2531 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายให้ลงชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือเรื่องราวการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แม้จะยังไม่ได้กรอกข้อความลงในเอกสารนั้น การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิแล้วเพราะจำเลยอาจนำไปกรอกข้อความให้ครบถ้วนบริบูรณ์ว่าผู้เสียหายเจตนาจะทำสัญญาจำนองที่ดินได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341
คำร้องทุกข์ ใบแต่งทนายความไม่ใช่เอกสารสิทธิ การหลอกลวงให้ถอนคำร้องทุกข์หรือให้ลงชื่อในใบแต่งทนายความ จึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง ดู ฎ.2720/2535 , 1107/2509
ฎีกาที่ 2720/2535 คำร้องทุกข์มิใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่ง ป.อ.มาตรา 1(9) ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายให้ถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341 ได้
ล
PsthaiLaw.com (091 871 3937) นำเนื้อหาจากหนังสืออาญาพิสดาร ของอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ มาเผยแพร่เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน
ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย น.บ.ท.59 โทร. (097 2590623)
ติดต่อ ทนายวิเชียร สุภายุทธ น.บ.ท.65 โทร. (081 4559532)
ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี สนมศรี น.บ.ท.71 โทร. (082 5422249)
ติดต่อ ทนายฟิว กาญจนภัสส์ เตชาพุฒิพงศ์ น.บ.ท.70 โทร. (092-8747847)
ติดต่อ ทนายพีระพล กนกเกษมโรจน์ โทร. (086 1044545)
ติดต่อ ทนายหนูเพียร สามนต์ โทร. (093 2591669)
ติดต่อ ทนาย อัม ปิยะอัมพร สุกแก้ว โทร. (061 5619514)
ติดต่อ ทนายดวงพร ยินดี โทร. (0972989887)
ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ โทร. (091 8713937)
© 2015 All Rights Reserved