PS 16/2564 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีหนังสือเตือน มาตรา 119(4)

     

หลักกฎหมาย  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119

มาตรา 119  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่ง กรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วย กฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่ จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็น กรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอัน เป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่ เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

 

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64  ที่  

(091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ

 

ทนาย  อัม  ปิยะอัมพร  สุกแก้ว    โทร. (099 1987936)     สืบค้นแล้ว มีข้อมูลดังนี้

A  ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม  และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว  เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

          หนังสือเตือนให้มีผลใช้บังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำความผิด

          กรณีที่นายจ้างมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดและลูกจ้างมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างนั้น  ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่ร้ายแรง  นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ในการฝ่าฝืนครั้งแรกของลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย  แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวไปเป็นกรณีที่ร้ายแรง  นายจ้างต้องตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อนครั้งหนึ่งและเมื่อลูกจ้างได้กระทำผิดในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ภายใน 1 ปี  นับแต่วันที่ได้กระทำความผิดครั้งแรก  นายจ้างจึงจะเลิกจ้างลูกจ้างนั้นโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

          หมายถึงกรณีที่ลูกจ้างกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืน

          1.  ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  ซึ่งนายจ้างได้ทำเป็นหนังสือและประกาศให้ลูกจ้างทราบพร้อมทั้งส่งสำเนาให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมายตามมาตรา 108 แล้ว

          2.  ระเบียบ  ซึ่งนายจ้างได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับลูกจ้างในการทำงานให้แก่นายจ้างระเบียบดังกล่าวนายจ้างอาจกำหนดด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ  หรือระเบียบที่เป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องกันตลอดมาจนเป็นที่รู้ทั่วกัน

          3.  คำสั่ง  ซึ่งนายจ้างได้สั่งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดกระทำการตามหน้าที่และลูกจ้างได้รับทราบคำสั่งนั้นแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งด้วยวาจาหรือคำสั่งเป็นหนังสือก็ตาม

          ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งนั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วย  ถ้าหากข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมลูกจ้างก็ไม่จำต้องปฏิบัติตาม

(น้าสิด หมายเหตุช่วงปี 2563 กับปี 2564  มีการระบาดของไวรัส COVID 19 ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย  ช่วงเดือนกันยายน 2564รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ผู้กองธรรมนัส รัฐมนตรีอนุทิน มีผู้ติดเชื้อใหม่วันละเกิน 12,000 คน  ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ จนทำให้นายจ้างแทบทุกบริษัทต้องลดค่าใช้จ่ายโดยการลดจำนวนพนักงาน  PsThaiLaw  จึงได้รับโทรศัพท์จากน้อง ๆ วันละเกือบ 10 คน ขอปรึกษาเรื่องการเตรียมฟ้องนายจ้างว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทนายความหลายคนของPsThailaw จึงช่วยกันเรียบเรียงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นบทความชุดนี้ขึ้น เพื่อให้น้องๆที่กำลังมีปัญหาได้ศึกษาหาทางเยียวยาปัญหาของตนเอง หากน้องๆได้เข้ามาอ่านแล้วตั้งใจอ่านสัก2 รอบจะเข้าใจได้ดีขึ้น )

B  การตักเตือนเป็นหนังสือ

ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี     น.บ.ท.71       โทร. (082 5422249)    สืบค้นแล้ว มีข้อมูลดังนี้

กฎหมายกำหนดให้หนังสือเตือนมีผลใช้บังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด  หมายถึงระยะเวลาใช้บังคับของหนังสือเตือนที่ออกหลังจากที่ลูกจ้างกระทำความผิดครั้งแรกจะมีระยะเวลา  ที่ลูกจ้างทราบหนังสือเตือนจนกระทั่งถึงวันที่กระทำผิดครั้งที่สองน้อยกว่า 1 ปี  หรือบางรายหนังสือเตือนอาจจะไม่มีผลใช้บังคับเลยก็ได้ถ้าลูกจ้างได้ทำความผิดไว้  แต่นายจ้างไม่ทราบจนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาแล้วเกิน 1 ปี  จึงทราบการกระทำผิดของลูกจ้างนั้นและออกหนังสือเตือน

หนังสือเตือนควรมีข้อความที่จะทำให้ลูกจ้างทราบถึงการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของนายจ้าง  และถ้อยคำที่เตือนให้ลูกจ้างรู้สำนึกในการกระทำ  ตลอดจนข้อความอื่นที่จำเป็น

หนังสือเตือนควรมีข้อความดังนี้

1.  สถานที่ออกหนังสือเตือน

2.  วันเดือนปีที่ออกหนังสือเตือน  ซึ่งอาจเป็นวันเดียวกันกับวันที่ลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ  ข้อบังคับ คำสั่ง  หรือวันอื่นที่นายจ้างทราบหรือได้สอบสวนแล้วว่าลูกจ้างได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น

3.  ข้อความแสดงการแจ้งต่อตัวลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจง

4.  ข้อเท็จจริงโดยย่อเกี่ยวกับการกระทำของลูกจ้างนั้น  ซึ่งควรระบุถึง วัน เดือน ปี เวลา สถานที่ และพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน

5.  ข้ออ้างที่ระบุว่าลูกจ้างได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งฉบับใด ข้อใดหรือในเรื่องใด

6.  ข้อความที่มีลักษณะเป็นการตักเตือน  โดยอาจเป็นถ้อยคำเชิงแนะนำ  ชี้ชวน ห้ามปราม มิให้ลูกจ้างกระทำการนั้นอีก

7.  ลายมือชื่อของนายจ้าง  หรือผู้ออกหนังสือเตือน

B1  ต้องเป็นคำเตือนของนายจ้าง

          ข้อความในเอกสาร  แม้จะมีชื่อว่า  “คำเตือน”  แต่ใจความเป็นเรื่องที่ลูกจ้างรับสารภาพว่าได้ทำการฝ่าฝืนระเบียบของบริษัท  แล้วบรรยายว่ากระทำอย่างไร  เมื่อใด  ทำให้บริษัทฯ เสียประโยชน์ เคยถูกหัวหน้าเตือนมาแล้วกี่ครั้งตอนท้ายเป็นคำรับว่า  เป็นการกระทำผิดครั้งที่เท่าใด  ตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษ  ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร  และรับรองว่าจะไม่ทำตัวเช่นนี้อีก  เนื้อความเป็นเรื่องที่ฝ่ายลูกจ้างแสดงข้อเท็จจริงและเจตนาออกมาเป็นหนังสือผู้ใดจะเป็นผู้เขียนข้อความไม่สำคัญข้อสำคัญคือ  ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่เป็นคำเตือนของฝ่ายนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำอีกเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่คำเตือน (ฎ.180/2526)

B2  ประกาศทั่วไป

          ตามคำสั่งของนายจ้างที่ว่า  “...อนึ่ง บริษัทฯ ขอเตือนพนักงานทุกคนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินให้ใช้ความระมัดระวัง  ถ้าเผอเรอก็จะก่อความเสียหายให้แก่ส่วนตัวและบริษัทถ้าทำสูญหายบ่อย ๆ แม้จะเป็นการสูญหายโดยสุจริตก็อาจถูกพิจารณาโทษฐานหย่อนสมรรถภาพการทำงาน  หากพิสูจน์ได้ว่าสูญหายโดยทุจริตก็จะถูกโทษไล่ออก  และดำเนินคดีทางอาญาได้”  นั้น เป็นประกาศทั่วไปคำสั่งดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการเตือนลูกจ้าง  จึงมิใช่หนังสือเตือน (ฎ.1746/2528)

B3  ทัณฑ์บน

          เอกสารที่นายจ้างอ้างเป็นแต่เพียงหนังสือทัณฑ์บนที่ลูกจ้างทำให้ไว้แก่นายจ้างว่าจะแก้ไขตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้  โดยมิได้มีข้อความตอนใดที่แสดงว่านายจ้างได้เตือนลูกจ้างในเรื่องที่ลูกจ้างทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในเรื่องใดไว้  เอกสารดังกล่าวจึงขาดลักษณะที่จะถือว่าเป็นคำเตือนได้ (ฎ.4159/2531)

B4  ตำหนิการทำงาน

          หนังสือที่นายจ้างอ้างว่าเป็นหนังสือเตือน  เนื้อความในหนังสือเป็นเรื่องการทดลองงานและมีลักษณะตำหนิการทำงานของลูกจ้างว่าขาดความรับผิดชอบ  มิได้มีข้อความกล่าวถึงว่าการกระทำของลูกจ้างเข้าลักษณะเป็นการกระทำผิดใดและหากกระทำผิดเช่นนั้นซ้ำอีกจะถูกลงโทษอย่างไร  แม้ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของหนังสือตักเตือนไว้ว่าจะต้องมีรูปแบบและข้อความอย่างไร  แต่จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างตักเตือนลูกจ้างที่ได้กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน  หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างมิให้กระทำความผิดเช่นว่านั้นอีก  หากกระทำจะต้องถูกลงโทษหนังสือเรื่องการทดลองงานจึงมิใช่หนังสือตักเตือน  การที่นายจ้างกล่าวอ้างว่าเลิกจ้างลูกจ้างเพราะกระทำผิดซ้ำคำเตือนซึ่งได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว  จึงมิอาจรับฟังได้  (ฎ.1120/2544)

C  หนังสือเตือนต้องมีเหตุอันสมควร

          ลูกจ้างเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย  ก่อนออกหนังสือเตือน  นายจ้างไม่เคยออกคำสั่งห้ามลูกจ้างเข้าไปในสำนักงานเพื่อใช้ห้องน้ำมาก่อนการไปเข้าห้องน้ำก็เป็นวิสัยอันจำเป็นของปุถุชนโดยทั่วไป  ครั้นเมื่อเข้าไปแล้วก็ได้รับการร้องขอจากพนักงานให้ช่วยเปิดสวิตซ์ไฟฟ้าและโทรศัพท์เรียกรถรับส่งพนักงาน  แม้จะมิได้เป็นหน้าที่โดยตรงของลูกจ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการปฏิบัติตามอัธยาศัยอันดีเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง  การไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในระยะเวลาสั้น ๆ ของลูกจ้างกรณีดังกล่าว  ยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร  หนังสือเตือนของนายจ้างที่อ้างว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ.10453/2546)

C1  ระบุความผิด

          หนังสือเตือนที่ระบุการกระทำผิดของลูกจ้างว่า  ลูกจ้างขาดงานในวันเดือนปีใด  พร้อมทั้งมีข้อความเตือนมิให้ลูกจ้างกระทำผิดในลักษณะนี้อีกเป็นหนังสือเตือนที่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ.4025/2548)

          เมื่อนายจ้างได้ทำหนังสือเตือนแล้ว  ต้องให้ลูกจ้างได้ทราบหนังสือเตือนนั้น  โดยส่งหนังสือเตือนไปให้ลูกจ้าง  หรือให้ลูกจ้างอ่านหนังสือเตือน  หรืออ่านหนังสือเตือนให้ลูกจ้างฟัง  การปิดประกาศควรกระทำเมื่อไม่อาจแจ้งให้ลูกจ้างทราบหนังสือเตือนด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วเท่านั้น  นายจ้างอาจขอให้ลูกจ้างลงชื่อรับหนังสือเตือนหรือลงชื่อรับทราบหนังสือเตือนได้  แต่ไม่อาจสั่งหรือบังคับลูกจ้างให้ลงชื่อรับหรือทราบหนังสือเตือนได้

D1  ไม่ยอมลงชื่อ (หมายเหตุน้าสิด ตอบคำถามฝรั่งชาวสเปนที่ถูกเลิกจ้าง ด้วยฎีกานี้ครับ)

          กฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดวิธีการแจ้งคำเตือนให้ลูกจ้างทราบไว้ประการใด  ถ้าลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือน  นายจ้างอาจใช้วิธีการอย่างอื่นได้  เป็นต้นว่า แจ้งด้วยวาจา หรือปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบ การที่ลูกจ้าง ๆ ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนเป็นหนังสือ  จึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งนายจ้าง  นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างเพราะเหตุนี้ไม่ได้ (ฎ.5560/2530)

D2  กฎหมายมิได้กำหนดว่าเมื่อนายจ้างออกหนังสือเตือนลูกจ้างแล้ว  นายจ้างต้องแจ้งหนังสือเตือนให้ลูกจ้างทราบโดยต้องให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบในหนังสือเตือน  หรือต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบโดยวิธีการใด  การที่นายจ้างออกหนังสือเตือนและแจ้งให้ลูกจ้างทราบ  แม้ลูกจ้างจะไม่ได้ลงชื่อรับทราบในหนังสือเตือน  ก็ถือว่าลูกจ้างทราบหนังสือเตือนแล้ว  (ฎ.6251/2534)

 

ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์      โทร. (086 1044545)      สืบค้นแล้ว มีข้อมูลดังนี้  

E  นายจ้างอ้างเหตุที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างได้ต่อเมื่อลูกจ้างได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งในเรื่องเดียวกับที่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือไว้

E1  มิใช่เรื่องเดียวกัน

          แม้ลูกจ้างจะเคยฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจนนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว 2 ครั้งก็ตาม  หากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอีกในกรณีอื่นมิใช่เรื่องเดียวกันที่นายจ้างเคยตักเตือนไว้ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย  (ฎ.73/2524)

E2  คนละสาเหตุ

          ความผิดครั้งก่อน  เป็นเรื่องลูกจ้างปล่อยนมทิ้งที่พื้นโรงงาน  ส่วนครั้งหลัง เป็นเรื่องหลงลืมใส่ไขมันมะพร้าวในการผสมนม  จึงเป็นความผิดคนละเหตุ  แม้ครั้งแรกนายจ้างจะมีหนังสือเตือนลูกจ้างแล้วก็ตาม  นายจ้างเลิกจ้าง เนื่องจากทำความผิดครั้งหลัง ต้องจ่ายค่าชดเชย (ฎ.2790/2527)

E3  คนละเรื่อง

          ลูกจ้างเคยถูกนายจ้างตักเตือนเป็นหนังสือ 2 ครั้ง  ครั้งแรกเตือนในเรื่องขาดงานโดยไม่ยื่นใบลาป่วยและมาสาย  ครั้งที่สองเตือนในเรื่องข้อความในใบลาเป็นเท็จ  ก่อนถูกเลิกจ้างลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องการลากิจ  การกระทำผิดในครั้งหลังจึงเป็นคนละเรื่องกับคำเตือนทั้งสองครั้งดังกล่าว  จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการการทำผิดซ้ำเตือน  เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย  (ฎ.1510-1511/2531)

          เหตุที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้อเลิกจ้าง ข. ลูกจ้างเพราะกระทำผิดซ้ำคำเตือนในข้อขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว  การเตือนในครั้งแรกตามหนังสือเตือนลงวันที่ 8 มิถุนายน 2553  เป็นการเตือนเนื่องจาก ข. ขัดคำสั่งและโต้เถียงผู้บังคับบัญชาระดับสูงอันเป็นผลมาจากการที่ ข. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในฐานดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะและไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้แต่ในการกระทำผิดครั้งหลังเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553  เป็นเรื่อง ข. ไม่ไปตรวจสอบสถานที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้วทำรายงานเท็จเสนอต่อโจทก์ว่าตรวจสอบแล้ว  ซึ่งเป็นคนละกรณีกันไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน  อันจะมีผลให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 119 (4)  ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่ ข. ไม่ไปตรวจสถานที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทำรายงานเท็จต่อโจทก์เป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง  นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนนั้น  ไม่ใช่เหตุที่โจทก์อ้างในการเลิกจ้าง ข. ตามหนังสือเลิกจ้าง  โจทก์จึงไม่สามารถยกขึ้นอ้างในการเลิกจ้าง ข. โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้  เพราะต้องห้ามตามมาตรา 119  วรรคท้าย (ฎ.9774/2558)

E4  ลากิจกับลาป่วย

          ลูกจ้างเคยถูกนายจ้างเตือนเป็นหนังสือเนื่องจากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีลากิจ  ดังนั้น  ต่อมาไม่ว่าลูกจ้างจะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีลาป่วยหรือไม่  ก็เป็นคนละเรื่องกับกรณีลากิจ  (ฎ.6910/2546)

E5  ย้ายที่ทำงาน

          เมื่อวันที่ 2 เมษายน  นายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างจากสำนักงานสาขาในกรุงเทพมหานคร  ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่  จังหวัดนครนายกโดยไม่ได้ลดตำแหน่งและค่าจ้างกับได้สวัสดิการเช่นเดิม  ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม  ลูกจ้างไม่ยอมไป  นายจ้างออกหนังสือเตือน  ต่อมาวันที่ 21 เดือนเดียวกัน  นายจ้างมีคำสั่งย้ายลูกจ้างอีกครั้ง  ลูกจ้างก็ไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งอีก  เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี  นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้  (ฎ.364/2548)

E6  คนละเรื่อง

          ลูกจ้างมาสาย  ถูกตักเตือนด้วยวาจา  ลูกจ้างมาสายอีก  ถูกตักเตือนด้วยวาจาอีก  ต่อมาลูกจ้างมาสายอีก  ถูกตักเตือนเป็นหนังสือและตัดค่าจ้าง 160 บาท  ลูกจ้างมาสายอีกครั้ง  ถูกตักเตือนด้วยวาจาลูกจ้างก้าวร้าวผู้บังคับบัญชาถูกตักเตือนเป็นหนังสือ  ต่อมาลูกจ้างนำโทรศัพท์ส่วนกลางนำโทรศัพท์ส่วนกลางไปใช้โทรศัพท์ส่วนตัว  การกระทำผิดในเรื่องก้าวร้าวและเรื่องใช้โทรศัพท์  มิใช่การกระทำผิดซ้ำคำเตือน  นายจ้างไม่สามารถนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้  (ฎ.1461/2548)

E7  ย้ายแผนก

          ลูกจ้างได้รับคำสั่งจากหัวหน้างานให้ไปทำงานแผนกเย็บ  ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม  แต่ลูกจ้างไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งทันที  จนต้องหาคนอื่นทำงานแทน  นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไว้  ต่อมาอีก 5 วัน  หัวหน้างานได้สั่งให้ลูกจ้างไปทำงานอีกแผนกหนึ่ง  ซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม  แต่ลูกจ้างไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งอีก  จึงเป็นการกระทำผิดในลักษณะเดียวกันซ้ำคำเตือน  นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้  (ฎ.3446/2549)

F  ไม่นำพาต่อคำสั่งเป็นอาจิณ

          เมื่อเดือนมกราคม 2545  ถึงเดือนธันวาคม 2545  โจทก์ไม่ไปถึงสถานที่ทำงานในเวลา 8.00 นาฬิกา  อันเป็นเวลาทำงานตามปกติรวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง  จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 21 มกราคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546  โจทก์แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามและพูดจาไม่สุภาพหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง  จำเลยออกหนังสือเตือนฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546  เอกสารทั้งสองฉบับลงลายมือชื่อ ว. ผู้จัดการส่วนการพนักงาน  หนังสือทั้งสองฉบับนี้ระบุว่าเป็นเรื่องเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติ  และยังระบุเรื่องการกระทำผิดของโจทก์ด้วย  อีกทั้งมีข้อความเหมือนกันว่า  “ดังนั้นเพื่อให้ท่านแก้ไขและปรับปรุงความประพฤติของท่านให้เป็นพนักงานที่ดีและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎข้อบังคับและมาตรฐานการทำงานที่ดี  บริษัทฯ  จึงลงโทษท่าน  โดยการออกหนังสือเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติครั้งที่ 1  ขอตักเตือนว่าหากท่านฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของบริษัทโดยการกระทำผิดเช่นนั้นอีก  บริษัทจะพิจารณาลงโทษสถานหนักต่อไป”  หลังจากนั้นปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงมีนาคม 2546  โจทก์ยังคงทำผิดซ้ำคำเตือน  โดยไปไม่ถึงอาคารสถานที่ทำงานและไม่ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา  รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง  จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546  ลงนามโดย ว. เช่นกัน  แต่ระบุเรื่องว่าหนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน  เมื่อมีข้อความระบุการกระทำความผิดของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังระบุว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน  ทั้งระบุว่าบริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อไป  มิได้มีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือนหลังจากออกหนังสือฉบับนี้ได้ 9 วัน  จำเลยออกหนังสือปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน  ดังนั้น  หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน  จึงมิใช่หนังสือเตือนแต่เป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน  โดยโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว  จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ  มาตรา 119 (4)  การกระทำของโจทก์เป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณ  จำเลยเป็นนายจ้างสามารถไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 583  ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ  มาตรา 17  พฤติการณ์เกี่ยวกับการทำงานรวมทั้งการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลยย่อมมีเหตุผลอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  (ฎ.7398-7399/2551)

F1  หนังสือเตือนกับหนังสือแจ้งเหตุผล

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2966/2555

          หนังสือเตือนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4)  วรรคหนึ่ง จะต้องมีข้อความระบุถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของลูกจ้างพร้อมทั้งห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำอีก  แต่เอกสารหมาย ล.3 มิได้มีข้อความดังกล่าวให้ชัดเจนเพียงระบุว่าโจทก์กระทำผิดอย่างไรอันเป็นเหตุให้กรรมการบริหารจำเลยต้องสั่งลดเงินเดือนลง 5,000 บาท ต่อเดือน  นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เป็นต้นไปเท่านั้น  เอกสารหมาย ล.3  จึงมิใช่หนังสือเตือนตามกฎหมาย  แต่เป็นเพียงหนังสือแจ้งเหตุผลที่จำเลยลดเงินเดือนโจทก์ลงแต่เพียงอย่างเดียว  ในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.4 นั้น มาตรา 119 (4) วรรคสอง  บัญญัติว่า หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด  เอกสารหมาย ล.4 ระบุว่า  โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรในวันที่ 11 กรกฎาคม 2549  จึงมีผลบังคับได้ไม่เกินวันที่ 11 กรกฎาคม 2550  หนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.6 ในส่วนที่อ้างว่า  โจทก์ขาดงานในวันที่ 26 กรกฎาคม 2550  เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนด้วยจึงไม่ถูกต้อง  เนื่องจากวันดังกล่าวหนังสือเตือนไม่มีผลบังคับเพราะล่วงพ้นเวลาใช้บังคับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว

ลPsthaiLaw.com   (091 871 3937)     นำเนื้อหาจากหนังสือคดีแรงงาน  ของอาจารย์สมศักดิ์  เอี่ยมพลับใหญ่   มาเผยแพร่เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย     น.บ.ท.59       โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ           น.บ.ท.65       โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี      น.บ.ท.71       โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                    โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                              โทร. (093 2591669)

ติดต่อ ทนาย อัม  ปิยะอัมพร  สุกแก้ว                     โทร. (099 1987936)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์                    โทร. (091 8713937)