PS 1/2564 คดีแรงงานอุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมาย

     

อุทธรณ์

คู่ความที่ไม่พอใจคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน  มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานเฉพาะในข้อกฎหมายต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้ภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  (มาตรา 54)  การยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน (มาตรา 55)  ในการพิจารณาพิพากษา  ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานได้วินิจฉัยมา (มาตรา 56)

B  สำหรับการอุทธรณ์กระบวนพิจารณาคดีผิดระเบียบ  จะต้องคัดค้านภายใน 8 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 27 วรรคสาม ก่อน มิฉะนั้นจะอุทธรณ์ไม่ได้  (ฎีกาที่ 9264/2552)

C  ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา  เช่นคำสั่งให้งดการสืบพยานที่ไม่ทำให้คดีเสร็จไปหรือการกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือคำสั่งรับฟ้องแย้งคู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ก่อน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 มิฉะนั้น จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวนั้นไม่ได้  (ฎีกาที่ 8789/2550 , 5191/2539 ,8317/2544 , 5501/2530)

 

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64  ที่  

(091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ

 

ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี  น.บ.ท.71  (082-542 2249)    สืบค้นแล้ว มีข้อมูลดังนี้

1.  อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

1.1  หลักกฎหมาย

          พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558) บัญญัติว่า

          “การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน  ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้  แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

          การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยืนต่อศาลแรงงานซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในสิบห้าวัน  นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและให้ศาลแรงงานส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้  ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ฝ่ายนั้นได้รับสำเนาอุทธรณ์

          เมื่อได้มีการแก้อุทธรณ์แล้วหรือไม่แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง  ให้ศาลแรงงานรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ”

1.2  ต้องอุทธรณ์ภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง

          เนื่องจากคดีแรงงานต้องการความรวดเร็ว  ดังนั้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์จึงสั้นกว่าคดีแพ่งทั่วไป  คดีแพ่งทั่วไปคู่ความต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน  นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229  แต่คดีแรงงานนั้นจะต้องยื่นอุทธรณ์เสียภายใน 15 วัน  นับแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้น  เป็นเหตุให้ทนายความหลายคนหลงลืมยื่นอุทธรณ์ไม่ทัน  ต้องแก้ปัญหาโดย การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 26

1.3  อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

          เดิมคดีแรงงานต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา  ต่อมากฎหมายแก้ไขใหม่ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษสำหรับคดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559  ซึ่งเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเปิดทำการ

          ส่วนคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลฎีกา  ก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522  ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา  ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  (ฉบับที่ 3)  พ.ศ. 2558

          สำหรับคดีศาลฎีกายกย้อนให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษาใหม่  ถ้าศาลแรงงานพิพากษาใหม่หลังจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเปิดทำการแล้ว  (1 ตุลาคม 2559)  ยังมีความเห็นเป็นสองฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าถือว่าคำพิพากษาศาลแรงงานฉบับเดิมถูกลบล้างไปแล้ว  ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ใช่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา  เว้นแต่คำสั่งยกย้อนสำนวนนั้น  ศาลฎีกายังมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอยู่เช่นกรณีคู่ความมรณะเป็นต้น  แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคดียังอยู่ในอำนาจพิจารณา  พิพากษาของศาลฎีกา  จึงต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา

          สำหรับคดีสาขา  ในกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาและต่อมามีคำร้องในชั้นบังคับคดีที่เกี่ยวพันกับคำพิพากษาเช่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์  จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา แต่ถ้าคำร้องในชั้นบังคับคดีที่ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษา  เช่นคำร้องขัดทรัพย์จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

          การอุทธรณ์คดีอื่นซึ่งไม่ใช่คดีแรงงานที่เกิดในศาลแรงงานเช่นคดีละเมิดอำนาจศาล  ผู้พิพากษานายเดียวมีอำนาจลงชื่อในคำพิพากษาได้โดยผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง  ไม่ต้องลงชื่อเป็นองค์คณะด้วย  จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค  ไม่ใช่อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

2.  อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมาย

          ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่ความทั้งโจทก์และจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้เฉพาะในข้อกฎหมายเท่านั้น  จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่ได้  ดังนั้นปัญหาข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงาน  ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่มีอำนาจวินิจฉัยในข้อเท็จจริง  หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงศาลแรงงานจะสั่งไม่รับอุทธรณ์  หากผู้อุทธรณ์เห็นว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของตนเป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์  ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลแรงงานได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 234  ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522  มาตรา 31  โดยวางเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานต่อศาลพร้อมดอกเบี้ย  กรณีเช่นนี้ศาลแรงงานต้องรับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์  แล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย (ฎีกาที่ 1382/2548)

          คดีแรงงานอุทธรณ์ได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย  จึงไม่อาจมีการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้  การที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีจะรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว  และอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ฎีกาที่ 5177/2547)

2.1  ความหมายของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

          การวินิจฉัยว่าปัญหาใดเป็นข้อเท็จจริง  ปัญหาใดเป็นข้อกฎหมายเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง  สำหรับนักกฎหมาย  หลายปัญหามีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมากจนยากที่จะแยกออกได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย  มีหลักวินิจฉัยกว้าง ๆ ดังนี้  คือ

          ก. ปัญหาข้อเท็จจริง  หมายถึงปัญหาดังนี้

          1.  การวินิจฉัยโดยฟังพยานหลักฐานว่ามีการกระทำหรือเกิดเหตุการณ์ตามที่โต้เถียงกันหรือไม่

          2.  การใช้ดุลพินิจของศาลเช่นการกำหนดค่าเสียหาย  และคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตกรณีต่าง ๆ

          ข. ปัญหาข้อกฎหมาย  หมายถึงปัญหาดังนี้

          1.  การปรับบทกฎหมายหรือเอกสาร

          2.  การตีความ  แปลความกฎหมายหรือเอกสาร

          3.  การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบหรือขัดต่อกฎหมาย  (ฎีกาที่ 4106/2554)  (เป็นปัญหาที่วินิจฉัยได้โดยไม่ต้องฟังจากพยานหลักฐาน)

อธิบายได้ดังนี้

2.2  อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ได้แก่การอุทธรณ์ดังต่อไปนี้

1)  อุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน

2)  อุทธรณ์อ้างข้อเท็จจริงใหม่หรือเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ศาลแรงงานรับฟังมา

3)  อุทธรณ์ข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนของที่ศาลแรงงานรับฟังมา

4)  อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแต่กล่าวเลี่ยง บิดเบือน บิดผันหรือนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย

5)  อุทธรณ์ดุลพินิจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตของศาลแรงงาน

6)  อุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงาน

          อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงมาไม่ชอบ  คำเบิกความพยานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าคำเบิกความพยานของจำเลย  จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้าง  ศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป  เป็นต้น

2.3  การอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย

          หมายถึง  อุทธรณ์ปัญหาดังนี้

1)  การปรับบทกฎหมายหรือเอกสาร

2)  การตีความหรือแปลความกฎหมายหรือเอกสาร

3)  การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบหรือขัดต่อกฎหมาย  (ฎีกาที่ 4106/2554)

          อุทธรณ์ในข้อกฎหมาย เช่น อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโดยมิชอบ  ไม่ฟังพยานหลักฐานที่มีอยู่ใน 3 สำนวน  รับฟังพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน  รับฟังพยานหลักฐานขัดกันเอง  รับฟังข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน  รับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานในสำนวน  รับฟังข้อเท็จจริงยุติในเบื้องต้นทั้งที่คู่ความยังโต้แย้งคัดค้านกันอยู่หาก (ศาลสูงเห็น) เป็นความจริง  เป็นข้อกฎหมายแต่ถ้า (ศาลสูงเห็น) ไม่เป็นความจริงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงแต่บิดเบือนให้เป็นข้อกฎหมาย เป็นต้น

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร 

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเผยแพร่เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย     น.บ.ท.59       โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ           น.บ.ท.65       โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี      น.บ.ท.71       โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                    โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                              โทร. (093 2591669)

ติดต่อ ทนาย อัม  ปิยะอัมพร  สุกแก้ว                     โทร. (099 1987936)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์                    โทร. (091 8713937)