เรื่องที่ 3/2563 CTAB เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท กับการร้องขอปรปักษ์ที่ดิน

     

มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

 

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64  ที่   

(091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ

 

ทนาย หนูเพียร  สามนต์     โทร. (093 2591669)   สืบค้นแล้ว มีหลักกฎหมาย ดังนี้

    กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทซึ่งยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นส่วนสัด ถือว่าเจ้าของรวมทุกคนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททุกส่วน  เจ้าของรวมจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทได้เพราะเป็นการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเอง  ดูฎีกาที่ 9394/2557 , 250/2547 , 1171 – 1172/257

    ฎีกาที่ 9394/2557  การครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น  จะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย  หากเป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองหรือที่ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ยังไม่มีการแบ่งแยกกันเป็นส่วนสัด  ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่  ผู้ร้องยื่นคำร้องขออ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของผู้ร้องและ บ. ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง  ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งที่ดินกัน  ผู้ร้องและ บ. จึงต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทคนละเท่า ๆ กันในทุกส่วนของที่ดินพิพาท  การที่ผู้ร้องอ้างว่า บ. นำที่ดินพิพาทไปขายให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง  ซึ่งมีผลผูกพันเฉพาะที่ดินพิพาทส่วนของ บ. เมื่อผู้ซื้อได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2  และผู้คัดค้านที่ 2  ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1  ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวมของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ในทุกส่วนของที่ดินพิพาท  ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของผู้ร้องเองได้

    ฎีกาที่ 250/2547  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดิน  มีจำเลยที่ 1 พ. และ ก. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน  ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด  การครอบครองของเจ้าของรวมส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้น ๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น  จะอ้างว่าครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของและได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

1.1  ข้อสังเกต   การที่เจ้าของรวมคนหนึ่งครอบครองทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นการครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่น (ฎีกาที่ 822/2499 , 259/2506)  การครอบครองปรปักษ์อาจเกิดขึ้นได้ต้องมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนเจ้าของรวมคนอื่นอีกต่อไป  ดูฎีกาที่ 5320/2560

    ฎีกาที่ 5320/2560  ที่ดินพิพาททั้งแปลงมีชื่อผู้ร้อง  ผู้คัดค้านและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันและเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้  แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคน  อื่น ๆ ตามมาตรา 1360 ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด  การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วน  นั้น ๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งและถือแทนเจ้าของรวมคนอื่นเท่านั้น  หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่  การที่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหาทำให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่  เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์แทนเจ้าของรวมคนอื่นอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381

1.2  ข้อสังเกต   ตามหลักที่ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกันทุกส่วน  ดังนี้เจ้าของรวมจึงไม่อาจครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมได้เพราะเป็นการครอบครองที่ดินของตนเองนั่นเอง  สำหรับในส่วนของเจ้าของรวมที่ไม่ได้ครอบครองก็ถือว่าเจ้าของรวมที่ครอบครองได้ครอบครองแทนด้วย  การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเพื่อครอบครองปรปักษ์ก็อาจเกิดขึ้นได้โดยถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมคนอื่นนั่นเอง

2.  กรณีเจ้าของรวมแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัดแล้ว ก็อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ได้  ดูฎีกาที่ 5352/2552

    ฎีกาที่ 5352/2552  ก.ย. และ อ. แบ่งการครอบครองที่ดินโฉนดพิพาทเป็นส่วนสัดมาตั้งแต่ยื่นคำขอกรรมสิทธิ์รวมเมื่อปี 2510 แล้ว เมื่อ ย. และ อ. กับจำเลยทั้งสิบสามผู้สืบสิทธิจาก ย. และ อ. ครอบครองที่ดินที่ซื้อมาจาก ก. โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี  จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

2.1  ข้อสังเกต   เมื่อมีการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นส่วนสัด  (โดยไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยก)  เจ้าของรวมแต่ละคนต่างครอบครองตามส่วนแบ่งอันเป็นการครอบครองเพื่อตนเท่านั้น  มิได้ครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย  การครอบครองปรปักษ์มิได้หมายถึงที่ดินในส่วนที่ตนได้รับจากการแบ่งแยก   เพราะเป็นการครอบครองที่ดินของตนเองมิใช่ของผู้อื่น  แต่หมายถึงการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินที่เจ้าของรวมคนอื่นได้รับจากการแบ่งแยกตาม  ฎ.5352/2552  เมื่อ ก.ย. และ อ.  แบ่งการครอบครองแล้ว ย. และ อ. ตกลงซื้อ (ไม่ได้จดทะเบียน)  ที่ดินในส่วนของ ก. ดังนี้ ย. และ อ. จึงครอบครองปรปักษ์ที่ดินส่วนของ ก. ได้  ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินของตนเอง  และไม่ถือว่าครอบครองแทน ก. ด้วย  และจำเลยทั้งสิบสามก็สืบสิทธิการครอบครองปรปักษ์จาก ย. และ อ. ได้




 

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร  

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน 

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59    โทร.(097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ        น.บ.ท.65      โทร.(081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท.71      โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                 โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                          โทร. (093 2591669)

ติดต่อ ทนาย อัม  ปิยะอัมพร  สุกแก้ว                 โทร. (099 1987936)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์                โทร. (091 8713937)