มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท. 64
โทร. (091 8713937) หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com นะครับ
ทนาย ดวงพร ยินดี (097- 298-9887) สืบค้นแล้วมีหลักกฎหมายเกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ลักษณะสำคัญของคำมั่นจะให้เช่า คือต้องมีข้อความแน่นอนชัดเจนในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เช่น อัตราค่าเช่าและระยะเวลาการเช่า มิฉะนั้นไม่เป็นคำมั่นจะให้เช่าเพราะผู้เช่าไม่อาจแสดงเจตนาสนองรับให้เกิดเป็นสัญญาเช่าใหม่ได้ทันที ดูฎีกาที่ 8043/2559
ฎีกาที่ 8043/2559 สัญญาเช่าอาคารพิพาทได้กำหนดขั้นตอนวิธีการต่อสัญญาไว้ว่าก่อนที่สัญญาเช่าจะสิ้นสุดลง ผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่า ว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่านี้โดยจะต้องแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่เกินกว่า 6 เดือนก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โดยก่อนที่จะมีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์ที่ 1 และจำเลยจะต้องทำความตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่า ทั้งอัตราค่าเช่านั้นมิได้กำหนดไว้อย่างแน่นอนตายตัว แต่ต้องเป็นไปตามการประเมินราคาค่าเช่าที่กำหนดไว้เสียก่อน ซึ่งจะต้องทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง แม้โจทก์ที่ 1 และจำเลยมีเจตนาในการทำสัญญาเช่านานถึง 12 ปี แต่เหตุที่ต้องแบ่งช่วงเวลาการเช่าเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 3 ปี เพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาษี ก็ไม่ได้มีผลให้สัญญาเช่าผูกพันโจทก์ที่ 1 และจำเลยนานกว่าที่ทำสัญญากันไว้ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยยังคงผูกพันกันแค่สามปี ข้อความในหนังสือสัญญาเช่าอาคารเป็นเพียงเงื่อนไขที่ให้สิทธิโจทก์ที่ 1 ที่จะต่ออายุสัญญาเช่าออกไปได้อีก หากโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสามารถตกลงกันเกี่ยวกับอัตราค่าเช่าและเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่อาจตกลงกันได้ สัญญาจึงไม่เกิดขึ้น ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นคำมั่นจะให้เช่า เพราะคำมั่นจะให้เช่าต้องมีข้อความชัดเจนยอมให้เช่าต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไข จำเลยจึงไม่ผูกพันที่จะต้องต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่โจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่เช่าก่อนที่สัญญาเช่าจะครบกำหนด กรณีจึงถือว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสิ้นสุดลง โดยมิได้มีฝ่ายใดผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกค่ารื้อถอนอุปกรณ์ค่าขนย้าย ค่าตกแต่งสถานที่เช่าใหม่ และค่าใช้จ่ายอื่นตามฟ้องจากจำเลยได้
2. ลักษณะของคำมั่นจะให้เช่าอีกประการหนึ่งคือ ต้องมีผลผูกพันผู้ให้เช่า ต้องยอมให้ผู้เช่า เช่าต่อไป ดูฎีกาที่ 13286/2556
ฎีกาที่ 13286/2556 ข้อความสัญญาเช่าที่ดินที่ว่า ผู้เช่ายอมรับสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้และผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไป ผู้เช่าจะได้เสนอขอต่อสัญญาเช่าต่อผู้ให้เช่าภายในกำหนด 60 วัน หากมิได้ขอต่อสัญญาภายในกำหนดนี้ให้ถือว่าผู้เช่าสละสิทธิการเช่าตามสัญญานี้ ผู้ให้เช่ามีอำนาจเข้าจัดการกับสถานที่เช่านี้ได้ทุกประการ ไม่มีลักษณะบังคับที่แน่นอนและชัดเจนว่าเมื่อผู้เช่าเสนอจะขอต่อสัญญาเช่าแล้ว มีผลต้องผูกพันผู้ให้เช่าต้องรับทำสัญญาต่อให้ จึงไม่มีลักษณะเป็นคำมั่น แต่มีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอของผู้เช่าฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าปฏิเสธไม่ต่อสัญญาเช่าให้ จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ได้
2.1 สัญญาเช่าระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่าจะพิจารณาต่อสัญญาเช่าให้ จึงเป็นดุลพินิจของผู้ให้เช่าว่าจะให้เช่าต่อหรือไม่ก็ได้นั้น ไม่เป็นคำมั่นจะให้เช่า ดูฎีกาที่ 3263/2535
ฎีกาที่ 3263/2535 หนังสือสัญญาเช่าสถานที่ระบุว่า ถ้าผู้เช่ามิได้ประพฤติผิดสัญญา ผู้ให้เช่าจะพิจารณาต่ออายุสัญญาให้อีกคราวหนึ่ง เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่าจะใช้ดุลพินิจต่อสัญญาให้แก่ผู้เช่าอีกคราวหนึ่ง ในเมื่อผู้เช่าไม่ได้กระทำผิดสัญญา อย่างไรก็ดี แม้ผู้เช่าจะไม่กระทำผิดสัญญาก็ตาม การจะต่ออายุสัญญาให้หรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของผู้ให้เช่า สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คำมั่นจะให้เช่า
2.2 ข้อสังเกต คำมั่นจะให้เช่าต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนในสาระสำคัญของสัญญาเช่า ซึ่งเมื่อผู้เช่าสนองรับคำมั่นแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาเช่าบังคับกันได้ทันที โดยผู้ให้เช่าและผู้เช่าไม่ต้องมาตกลงหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก การที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าต้องมาตกลงในเรื่องค่าเช่า หรือระยะเวลาการเช่า หรือต้องมาทำสัญญาเช่ากันใหม่ดังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้น จึงไม่มีลักษณะเป็นคำมั่นจะให้เช่า ดังนี้ ผู้เช่าจึงไม่อาจบังคับให้ผู้ให้เช่า ยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไป
2.3 สัญญาเช่าระบุว่าผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะให้เช่าต่อไป แต่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าต้องทำความตกลงกันเรื่องค่าเช่าและระยะเวลาการเช่ากันอีก ไม่มีความชัดเจนแน่นอนในสาระสำคัญของสัญญาเช่า ดังนี้ แม้ผู้เช่าจะแสดงเจตนารับคำมั่นตามกำหนดเวลาก็ตาม ก็ไม่ทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้น และมีผลบังคับตามกฎหมาย ดูฎีกาที่ 8692/2549
ฎีกาที่ 8692/2549 สัญญาเช่าที่ดินระบุว่า ก่อนที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่า จะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 15 วัน ส่วนค่าเช่าให้เป็นไปตามข้อตกลงใหม่ และตามคำมั่นจะให้เช่าที่ดินระบุว่า ผู้ให้คำมั่นตกลงยินยอมให้ผู้รับคำมั่นเช่าที่ดินต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี ค่าเช่าในอัตราปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่านั้นด้วย แสดงให้เห็นว่าก่อนที่จะมีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์และจำเลยจะต้องทำความตกลงในเรื่องระยะเวลาเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อน ซึ่งระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่านั้นมิได้มีการกำหนดกันไว้อย่างแน่นอนตายตัว แต่ให้เป็นไปตามความตกลงของโจทก์และจำเลยที่จะเจรจาและทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือตอบรับคำมั่นของโจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็หาทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นและมีผลบังคับตามกฎหมายในทันทีไม่ เมื่อโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าและไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ต่อกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินที่เช่าต่อไป
3. กำหนดเวลาสนองรับคำมั่นจะให้เช่า
แบ่งออกเป็น 2 กรณี
3.1 กรณีแรก คำมั่นมีกำหนดเวลาให้สนองรับ
คำมั่นจะให้เช่าอาจมีกำหนดเวลาให้ผู้เช่าสนองรับคำมั่นหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีกำหนดเวลาไว้ ผู้เช่าก็ต้องสนองรับคำมั่นภายในกำหนดเวลานั้นด้วย มิฉะนั้นคำมั่นนั้นก็สิ้นผลผูกพัน การกำหนดเวลาอาจกำหนดให้สนองรับคำมั่นนับแต่วันครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าก็ได้ ดูฎีกาที่ 316/2530
ฎีกาที่ 316/2530 สัญญาเช่าตึกแถวมีข้อความว่า “เมื่อครบกำหนดอายุสัญญา และผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไป ผู้เช่าจะได้เสนอต่อสัญญาเช่าต่อผู้ให้เช่าภายในกำหนดเวลา 60 วัน หากไม่ได้ขอต่อสัญญาภายในกำหนดเวลานี้ให้ถือว่าผู้เช่าสละสิทธิการเช่า...” ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด จำเลยผู้เช่าได้มีหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าต่อโจทก์ที่ 1 ผู้ให้เช่าภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา เท่ากับผู้เช่าสนองรับคำเสนอของผู้ให้เช่าแล้ว ถือได้ว่าสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม โดยไม่จำต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมาจึงไม่เป็นการละเมิด
การยกเลิกคำมั่นที่มีกำหนดเวลา
คำมั่นจะให้เช่าที่มีกำหนดเวลาให้ทำคำสนองรับ ไม่อาจถอนคำมั่นฝ่ายเดียวได้ แต่คู่สัญญา (ผู้ให้เช่าและผู้เช่า) อาจตกลงยกเลิกคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ได้ แม้การเช่านั้นมีการจดทะเบียนการเช่า (โดยคำมั่นเป็นข้อสัญญาข้อหนึ่งที่จดทะเบียน) การตกลงยกเลิกก็ไม่จำต้องจดทะเบียนยกเลิก คู่สัญญาอาจทำบันทึกยกเลิกคำมั่นจะให้เช่ากันเองได้ ดูฎีกา 3078-3079/2555
3.2 กรณีที่สอง คำมั่นไม่มีกำหนดเวลาสนองรับ
คำมั่นจะให้เช่าไม่มีกำหนดเวลาสนองรับคำมั่น ผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าเดิม หากผู้เช่าไม่แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นจะพ้นกำหนดเวลาเช่า คำมั่นย่อมไม่ผูกพันผู้ให้เช่าอีกต่อไป ดูฎีกาที่ 1051/2514
ฎีกาที่ 1051/2514 สัญญาเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา 3 ปี ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะยอมให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดินนั้นต่อไปอีกครั้งละ 3 ปี หากผู้เช่าไม่แสดงความจำนงขอเช่าที่ดินต่อก่อนที่สัญญาเช่าสิ้นอายุ คำมั่นนั้นย่อมไม่ผูกพันผู้ให้เช่า
4. สัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลาเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีผลให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ผู้เช่าต้องสนองรับคำมั่นภายในเวลา 3 ปี นั้นด้วย หากผู้เช่าไม่สนองรับคำมั่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำมั่นย่อมสิ้นผลไป ดูฎีกาที่ 563/2540
ฎีกาที่ 563/2540 โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าอาคารมีกำหนด 7 ปี โดยให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปี ยินยอมต่อสัญญาให้อีก 15 ปี สัญญาดังกล่าวมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าจึงสิ้นผลบังคับไปด้วย ไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก
5. ถ้าผู้เช่าไม่ได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นภายในกำหนดเวลา หรือก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดลง แต่ผู้เช่ายังคงอยู่ในที่เช่าและชำระค่าเช่าโดยผู้ให้เช่ามิได้ทักท้วง ถือเป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570 ดูฎีกาที่ 876/2537
ฎีกาที่ 876/2537 สัญญาเช่าระบุว่าเมื่อพ้นอายุสัญญาเช่า 15 ปีแล้ว โจทก์ยินยอมตกลงให้จำเลยเช่าต่อได้อีก 14 ปีนั้น เป็นคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยเช่า จำเลยจะต้องแสดงความจำนงต่อโจทก์ก่อนครบอายุสัญญาเช่า เมื่อจำเลยมิได้แสดงความจำนงที่จะเช่าต่อก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่า การที่จำเลยคงอยู่ในที่เช่าและชำระค่าเช่าภายหลังครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมแล้ว จึงเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม ป.พ.พ.มาตรา 570 คำมั่นที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าย่อมระงับไป เมื่อโจทก์บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่เช่าต่อไป
ข้อสังเกต กรณีนี้แม้จะมีพฤติการณ์ที่ถือว่าคู่สัญญาได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570 และถือตามสัญญาเช่าเดิมก็ตาม ก็ต้องถือว่าในส่วนของคำมั่นนั้นสิ้นผลไปแล้ว (มีฎีกาที่ 1553/2504 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)
6. กรณีผู้ให้คำมั่น (ผู้ให้เช่า) ถึงแก่ความตายก่อนสนองรับคำมั่น
เนื่องจากคำมั่นเป็นการแสดงเจตนาในลักษณะเดียวกับคำเสนอ จึงต้องบังคับตามมาตรา 360 ว่าด้วยผลของคำเสนอกรณีผู้เสนอตาย สรุปรวมความได้ว่าก่อนสนองรับคำมั่น ถ้าผู้เช่ารู้แล้วว่าผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้ให้คำมั่นตาย คำมั่นย่อมสิ้นผล ไม่ผูกพันทายาทของผู้ให้เช่าให้ต้องปฏิบัติตามคำมั่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้เช่าไม่มีสิทธิสนองรับคำมั่นเพื่อให้เกิดเป็นสัญญาเช่านั่นเอง ดูฎีกาที่ 4392/2547
7. ผลของการสนองรับคำมั่น
เมื่อผู้เช่าสนองรับคำมั่นภายในกำหนดเวลาหรือก่อนสัญญาเช่าครบกำหนด (กรณีไม่มีกำหนดเวลาสนองรับ) แล้ว ถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีโดยมีเงื่อนไขและวิธีการตามสัญญาเช่าฉบับเดิมโดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่ ดูฎีกาที่ 1925/2517
ฎีกาที่ 1925/2517 เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลาเท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก
7.1 แต่ถ้าเป็นคำมั่นด้วยวาจา ซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิม กรณีนี้จะถือตามสัญญาเดิมไม่ได้ ต้องทำหลักฐานเช่าใหม่ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้ให้เช่าฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้ ดูฎีกาที่ 1062/2539 , 7386/2548
ฎีกาที่ 1062/2539 คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจาซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิม แม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดสัญญาเช่าขั้นใหม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 538
8. คำมั่นให้เช่ามีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี และผู้เช่าสนองรับคำมั่นนั้นแล้ว ผู้เช่าย่อมฟ้องบังคับให้ผู้ให้เช่าไปจดทะเบียนการเช่าให้ได้ ดูฎีกาที่ 748/2533
ฎีกาที่ 748/2533 ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินที่ว่า “ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่า เช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่ายเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม” นั้น เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับเอาได้ เมื่อก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดโจทก์ผู้เช่าได้แจ้งความประสงค์ในการที่จะเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 10 ปี ให้แก่จำเลยผู้ให้เช่าทราบและจำเลยได้รับแจ้งแล้วจึงต้องผูกพันตามคำมั่นของตน โดยจำเลยต้องทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 10 ปี
ข้อสังเกต เรื่องนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ตามสัญญา ศาลฎีกาพิพากษายืน
9. กรณีโอนทรัพย์ที่เช่าไปก่อนผู้เช่าสนองรับคำมั่น
ในกรณีผู้ให้เช่าได้โอนทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลนอกเสียก่อนผู้เช่าแสดงเจตนารับคำมั่น คำมั่นนั้นไม่โอนไปด้วยเพราะเป็นข้อตกลงต่างหากนอกเหนือไปจากสัญญาเช่า จึงไม่ผูกพันผู้รับโอนเว้นแต่ผู้รับโอนจะยอมผูกพันด้วย ดูฎีกาที่ 6763/2541
ฎีกาที่ 6763/2541 แม้สัญญาเช่าที่กำหนดให้อาคารสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของผู้ให้เช่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว จะเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ให้เช่าตกลงจะให้จำเลยได้เช่าที่ดิน และอาคารพิพาทต่อไปเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสัญญาเดิมในอัตราค่าเช่าที่เป็นธรรมก็ตาม แต่ข้อตกลงที่จะให้จำเลยเช่าต่อนั้นเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิคงมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือ โจทก์ร่วมกับจำเลยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วม เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยอมรับข้อผูกพันดังกล่าวในการรับโอนที่ดินพิพาทแต่อย่างใด
PsthaiLaw.com (091 871 3937) นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร ของอาจารย์วิเชียร
ดิเรกอุดมศักดิ์ มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน
ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย น.บ.ท.59 โทร. (097 2590623)
ติดต่อ ทนายวิเชียร สุภายุทธ น.บ.ท.65 โทร. (081 4559532)
ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี สนมศรี น.บ.ท.71 โทร. (082 5422249)
ติดต่อ ทนายพีระพล กนกเกษมโรจน์ โทร. (086 1044545)
ติดต่อ ทนายหนูเพียร สามนต์ โทร. (093 2591669)
ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ โทร. (091 8713937)
ติดต่อ ทนายอัม ปิยะอัมพร สุกเเก้ว โทร. (061 5619514)
© 2015 All Rights Reserved