เรื่องที่ 14/2562 สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่ากับกรณียกเว้น

     

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64     

โทร. (091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ


 

ทนายดวงพร  ยินดี   (097-298-9887)   สืบค้นแล้วมีหลักกฎหมายเกี่ยวข้อง ดังนี้

    1.  หลักกฎหมาย สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า  ดังนั้นเมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าย่อมระงับไป  ไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท  ดูฎีกาที่ 540/2517

    ฎีกาที่ 540/2517  สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า  เมื่อสามีจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าอาคารของโจทก์ตาย  สัญญาเช่าอาคารพิพาทก็เป็นอันระงับไป  แม้หลังจากนั้นโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทและรับเงินค่าเช่าอาคารพิพาทจากจำเลยทุกเดือน  แต่มิได้ทำหนังสือสัญญาเช่าต่อกัน  และโจทก์มิได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าอาคารพิพาทให้จำเลย  จึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  จำเลยจะยกการเช่าขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้และถือว่าจำเลยอยู่ในอาคารพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลขับไล่จำเลยออกจากอาคารพิพาทได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง

    2.  แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าให้ผู้อื่นได้ก็ตาม  สัญญาเช่าก็ยังคงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า  ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้เช่า  ดูฎีกาที่ 5038/2557  อย่างไรก็ตาม  ต่อมามีฎีกาที่ 2939/2559 , 11058/2559  (ประชุมใหญ่)  วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าที่มีข้อตกลงกันให้ผู้เช่า ให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิการเช่าได้  สัญญาเช่านั้นไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัว  เมื่อผู้เช่าตาย  สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  ย่อมตกทอดแก่ทายาทของผู้เช่า  ผู้ให้เช่าจะฟ้องขับไล่ทายาทของผู้เช่าไม่ได้

    ฎีกาที่ 11058/2559 (ประชุมใหญ่)  แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว  ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่  เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 544 วรรคหนึ่ง ก็ตาม  แต่จำเลยทั้งสองเป็นทายาทของ ผ. ผู้เช่าที่ดินพิพาท  จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว  ย่อมรับโอนสิทธิการเช่าได้  เมื่อ ผ. ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่าสามสิบปี  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน  กำหนดว่าผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้  อันเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว  แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้  โดยผู้เช่าต้องชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการเช่า 30 ปี  เป็นเงิน  1,000,000 บาท  กำหนดอัตราค่าเช่าสูงขึ้นทุกสิบปีตลอดระยะเวลาเช่า  เป็นการถือกำหนดเวลาสามสิบปีตามที่จดทะเบียนไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า  เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าโดยกำหนดระยะเวลาเช่ามีเพียงตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงไว้ในสัญญาเช่าอันจดทะเบียนว่าผู้เช่าถึงแก่ความตายให้สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ผ. ผู้เช่าถึงแก่ความตายจึงไม่ต้องมีการทำสัญญาเช่ากันใหม่เนื่องจากตกลงทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสามสิบปี  โจทก์ทั้งสองต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ผ. โดยตรง  สิทธิการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง  เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้  โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้

    ฎีกาที่ 17613/2555  สิทธิของผู้เช่าในการเช่าทรัพย์สินมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว  ดังนั้นเมื่อผู้เช่าตาย  สัญญาเช่าที่ราชพัสดุย่อมเป็นอันระงับไป  ไม่ตกทอดไปถึงทายาท  แม้กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง..ฯ  ระบุว่ากรณีที่สัญญาเช่าระงับเพราะเหตุที่ผู้เช่าตาย  หากทายาทของผู้เช่าประสงค์จะเช่าแทนต่อไปตามสัญญาเช่าเดิมจะอนุญาตให้ทายาทนั้นเป็นผู้เช่าต่อไปจนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าเดิมก็ได้  ก็เป็นเพียงให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าว่าจะอนุญาตให้ทายาทของผู้เช่าเดิมเป็นผู้เช่าต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดอายุสัญญาเช่าเดิมหรือไม่ก็ได้เท่านั้น  หาได้มีความหมายว่าสิทธิการเช่านั้นเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทเมื่อสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุครบกำหนดแล้วไม่

    3.  เมื่อผู้เช่าตายแล้ว  สิทธิการเช่าย่อมสิ้นสุดลง  แม้บริวารจะอยู่ต่อมาและชำระค่าเช่าด้วยก็ตามก็ไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่  (ฎ.119/2509)

    4.  กรณีผู้เช่าเป็นนิติบุคคล เมื่อนิติบุคคลสิ้นสภาพลงแล้ว  สัญญาเช่าก็ระงับ  ดูฎีกาที่ 901/2508

    ฎีกาที่ 901/2508  ในกรณีที่ผู้เช่าซึ่งเป็นนิติบุคคลได้สิ้นสภาพแล้ว  สัญญาเช่าย่อมระงับไป

    5.  ในกรณีมีผู้เช่าหลายคน  ผู้เช่าบางคนตายไป สิทธิการเช่าก็ระงับไปเฉพาะผู้เช่าคนที่ตายเท่านั้น  ดูฎีกาที่ 5859/2530

    ฎีกาที่ 5859/2530  แม้สัญญาเช่าจะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่าก็ตาม  เมื่อทั้งโจทก์และ ว.  ต่างเป็นผู้เช่าห้องพิพาทจากจำเลย  การตายของ ว. เป็นเหตุให้สิทธิการเช่าระงับไปเฉพาะตัวของ ว. หาทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับไปด้วยไม่

    6.  แต่กับบุคคลภายนอก  ถือว่าทายาทของผู้เช่าซึ่งตายลง  ต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ความรับผิดตามมาตรา 1599 , 1600  ทายาทของผู้เช่าฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกได้  (ฎีกาที่ 3695/2524 , 1224/2511 (ประชุมใหญ่))

    7.  ที่ว่าสัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวนั้น  เป็นสิทธิเฉพาะทางด้านตัวผู้เช่าเท่านั้น  แต่ในด้านตัวผู้ให้เช่าไม่ถือว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว  ดังนี้  ถ้าผู้ให้เช่าตาย  สัญญาเช่าจึงไม่ระงับ ทายาทของผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าต่อไปจนครบกำหนดเวลา

    8.  เมื่อสัญญาเช่าระงับเพราะความตายของผู้เช่า  ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าได้ชำระล่วงหน้าตามส่วนแก่ทายาทของผู้เช่า  (ฎีกาที่ 6472/2548)

    9.  สัญญาเช่าต่างตอบแทนฯ และสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัว

    สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว หมายถึงสัญญาเช่าธรรมดา  ไม่รวมถึงสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาด้วย  ดูฎีกาที่ 172/2488

    ฎีกาที่ 172/2488  ผู้ให้เช่าทำสัญญากับผู้เช่ายอมให้ผู้เช่ารื้อตึก  แล้วทำใหม่ด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่า  และว่าเมื่อทำเสร็จแล้วผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่า เช่าต่อไปอีก 15 ปี ในอัตราค่าเช่าเดิม  ดังนี้  เป็นสัญญาต่างตอบแทนในทางทรัพย์สิน  มิใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัว  เมื่อผู้เช่าทำตึกเสร็จแล้ว  ต่อมาผู้เช่าถึงแก่กรรม  สิทธิตามสัญญาย่อมตกทอดแก่ทายาท

    ข้อสังเกต  มีฎีกาที่ 801/2492  วินิจฉัยทำนองเดียวกัน  แสดงว่าถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัว  ดังนั้นเมื่อผู้เช่าตาย  สัญญาไม่ระงับสิทธิตามสัญญาต่างตอบแทนฯ  ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้เช่าได้

    10.  สัญญาเช่าซื้อ  เป็นสัญญาเช่าที่มีคำมั่นว่าจะขายรวมอยู่ด้วย  ไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัว  (ฎีกาที่ 2578-2579/2515)

    11.  แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า  แต่ก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งสามารถซื้อขายกันได้  ดูฎีกาที่ 16531/2557

    ฎีกาที่ 16531/2557  สิทธิการเช่าพื้นที่ในอาคารถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งสามารถทำสัญญาซื้อขายกันได้และถือเป็นการขายสิทธิการเช่าที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งก่อให้หนี้ระหว่างโจทก์ผู้ซื้อกับจำเลยผู้ขาย  โดยจำเลยเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะเรียกเอาราคาค่าโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์  ขณะเดียวกันจำเลยก็เป็นลูกหนี้โจทก์ในการที่จะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าที่ต้องโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์  โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยในการที่จะเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์และโจทก์เป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระราคาค่ารับโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย  เมื่อข้อตกลงตามข้อสัญญาต่าง ๆ ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  จึงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลผูกพันโจทก์จำเลยที่เป็นคู่สัญญา

 

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร  

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน 

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59    โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ        น.บ.ท.65     โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท.71     โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                         โทร. (093 2591669)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์               โทร. (091 8713937)

ติดต่อ ทนายอัม ปิยะอัมพร สุกเเก้ว                   โทร. (061 5619514)