เรื่องที่ 8/2562 รอนสิทธิกับความรับผิดของผู้ขาย

     

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. 475 , 476   

มาตรา 475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

มาตรา 476  ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้น ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด

 

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64    

โทร. (091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ


ทนาย นุ้ย  สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท. 71   (082-542-2249)    เห็นว่า มีหลักกฎหมาย ดังนี้

    1.  การรอนสิทธิ  คือการที่มีผู้มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เกิดขึ้นได้ 2 กรณี  คือ

    1.1  มีบุคคลผู้รบกวนมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายอยู่ในเวลาซื้อขาย หรือ

    1.2  มีบุคคลผู้รบกวนมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายเพราะความผิดของผู้ขาย

    กรณีมีบุคคลผู้รบกวนมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายนั้นอยู่ในเวลาซื้อขาย  เช่น  ผู้ขายไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่แท้จริง  และเจ้าของที่ดินที่แท้จริงมาขับไล่ผู้ซื้อ  เป็นการรอนสิทธิผู้ซื้อที่ดิน  ดูฎีกาที่ 7218/2542

    ฎีกาที่ 7218/2542  โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยและชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว  จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่วันทำสัญญา  แต่ที่ดินพิพาทเป็นของ ผ. และ ผ. ได้แจ้งความกล่าวหาคนงานของโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาท  ดังนี้ เป็นกรณีที่ ผ. ก่อการรบกวนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อในอันที่จะครองที่ดินพิพาทเป็นปกติสุข  เพราะ ผ. มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทอยู่ในเวลาที่โจทก์ซื้อจากจำเลย  จึงเป็นการรอนสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 475  เมื่อโจทก์มิได้รู้ในเวลาซื้อขายว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน  ผ. และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิทธิของโจทก์ได้สูญไปโดยความผิดของโจทก์เอง  จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าที่ดินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

    2.  ข้อสังเกต  กรณีบุคคลมารบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อเพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์ที่ซื้อขาย  สิทธิเหนือทรัพย์นั้นต้องมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขาย  ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นภายหลังการซื้อขายแล้ว  ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิด  แตกต่างจากกรณีเหตุแห่งการรอนสิทธิเกิดขึ้นจากความผิดของผู้ขาย  แม้จะเกิดขึ้นภายหลังทำสัญญาซื้อขายแล้วผู้ขายก็ต้องรับผิดอยู่นั่นเอง

    การที่ผู้ซื้อที่ดินไม่สามารถออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ผู้ขายโอนให้เนื่องจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ดังนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขายมิใช่เป็นการรอนสิทธิตาม     ป.พ.พ.มาตรา 475  ดูฎีกาที่ 5465/2559

    3.  ข้อยกเว้น  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดการรอนสิทธิ  (มาตรา 476)

    ถ้าผู้ซื้อรู้อยู่แล้วถึงสิทธิของผู้ก่อการรบกวนในเวลาซื้อขาย  ผู้ขายไม่ต้องรับผิด  ตามมาตรา 476  ดูฎีกาที่ 2008/2540 , 9652/2544

    ฎีกาที่ 2008/2540  หนังสือที่จำเลยที่ 1  มีไปถึงโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1  ตกลงขายที่ดินและอาคารให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เสนอขอซื้อ มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าไม่ได้รวมสิ่งปลูกสร้างเพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1  แต่โจทก์ก็ยังตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1  ดังนี้  โจทก์ทราบถึงการรบกวนขัดสิทธิของจำเลยที่ 2  ในที่ดินที่ซื้อแล้ว  แม้ว่าผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขายให้อยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อตามมาตรา 461 และ 462 และผู้ขายต้องรับผิดในกรณีที่มีผู้มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขตามมาตรา 475  แต่ในกรณีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อทราบอยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่ามีทรัพย์สินของจำเลยที่ 2  อยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมา จำเลยที่ 1  จึงไม่ต้องรับผิดในการรื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักร  เครื่องชั่งและค่าเสียหายแก่โจทก์ตามมาตรา 476

    4.  กรณีมีบุคคลผู้รบกวนมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายเพราะความผิดของผู้ขาย

    เช่น  ผู้ขายนำรถยนต์ที่ตนอยู่ระหว่างการชำระค่าเช่าซื้อมาขาย  ต่อมาผู้ขายไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเหตุให้เจ้าของรถยนต์มายึดเอารถยนต์ไป  ดูฎีกาที่ 3220/2516

    ฎีกาที่ 3220/2516  จำเลยเช่าซื้อรถยนต์มาจากเจ้าของขณะที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ  จำเลยได้นำรถนั้นไปขายให้กับโจทก์  โดยให้โจทก์ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ต่อมาจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ  เจ้าของรถได้มายึดเอารถยนต์ไปถือว่าได้มีการรอนสิทธิเกิดขึ้น  ทำให้จำเลยไม่สามารถจะส่งมอบและจัดการให้โจทก์ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนี้  ทั้งนี้ เพราะความผิดของจำเลย  จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 475

    ข้อสังเกต  การรอนสิทธิที่เกิดจากความผิดของผู้ขายนั้น  แม้เกิดขึ้นภายหลังเวลาซื้อขาย  ผู้ขายก็ต้องรับผิด

    5.  ความรับผิดในเรื่องการรอนสิทธิเป็นไปโดยผลของกฎหมาย  แม้สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลง  ให้รับผิดหรือขณะซื้อขาย  ผู้ขายไม่ทราบว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นถูกรอนสิทธิหรือผู้ขายซื้อทรัพย์นั้นมาโดยสุจริตก็ตาม  ผู้ขายก็ต้องรับผิด  ดูฎีกาที่ 6472/2539 , 926/2530

    ฎีกาที่ 6472/2539  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแม้ไม่มีข้อตกลงให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิ  แต่โดยผลของกฎหมายผู้ขายต้องรับผิด  เมื่อปรากฏว่ามีการรอนสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วในเวลาทำสัญญาจะซื้อจะขาย  แม้จำเลยผู้ขายจะไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกรอนสิทธิ  แต่โจทก์ผู้ซื้อได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  จำเลยมีหน้าที่ต้องขจัดเหตุที่ถูกรบกวนสิทธิไปเสียก่อนถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการ  โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยังไม่ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา  การที่จำเลยบอกเลิกสัญญา  จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์วางไว้ตามสัญญา

    ข้อสังเกต  เรื่องนี้เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน  เมื่อปรากฏเหตุการรอนสิทธิเกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนโอน  แต่ผู้ขายไม่ขจัดเหตุการณ์รอนสิทธิ  ผู้ซื้อก็ถือเป็นเหตุไม่ยอมรับโอนที่ดินได้เลยทีเดียว

    ฎีกาที่ 926/2530  แม้จำเลยที่ 3 (ผู้ขาย)  จะซื้อที่พิพาทมาโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันทางทะเบียน  และเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตก็ตาม  แต่โจทก์ก็รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 3  โดยสุจริตเช่นกัน  เมื่อกรมที่ดินสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาทและโฉนดที่พิพาทเป็นเหตุให้ทรัพย์นั้นกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง  กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ  จำเลยที่ 3  จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 479

    6.  ถ้าสัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ  ผู้ซื้อก็ไม่อาจฟ้องให้ผู้ขายรับผิดในเรื่องการรอนสิทธิได้  ดูฎีกาที่ 395/2538

    ฎีกาที่ 395/2538  ที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ที่ 1  บางส่วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ  จึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ซึ่งไม่อาจซื้อขายกันได้  สัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นโมฆะ  เท่ากับว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวกับโจทก์ที่ 1  จึงไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินส่วนดังกล่าวที่จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ

    7.  ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขายหลุดไปจากผู้ซื้อเพราะเหตุการณ์รอนสิทธิ  ผู้ขายต้องรับผิด (มาตรา 479)  โดยต้องคืนราคาแก่ผู้ซื้อพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงแต่ค่าเสียหายที่ผู้ซื้อไม่สามารถนำที่ดินไปขายให้แก่ผู้อื่นได้  ไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรง  เรียกร้องไม่ได้  ดูฎีกาที่ 2845/2548

    ฎีกาที่  2845/2548  การที่ศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินและนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท  อันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง  ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมารบกวนสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อ ให้จำต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่เจ้าของที่ดินที่แท้จริง  โจทก์ทั้งสองจึงถูกรอนสิทธิ ซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 475  เมื่อที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อ  จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ.มาตรา 479  ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองเสียหายไปจริง  แต่ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการไม่สามารถขายที่ดินพิพาทได้นั้น  เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ทั้งสองเอง  หาใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียหายไปตามความจริงไม่  ทั้งนี้ โจทก์ทั้งสองได้เกิดสิทธิเรียกร้องในเงินค่าที่ดินพิพาทเอาจากจำเลย  นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกา  จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

    8.  ความผิดของผู้ขายตามมาตรา 479  เป็นกรณีการรอนสิทธิเป็นเหตุให้ทรัพย์ที่ซื้อขายหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน.....โดยผู้ซื้อต้องไม่รู้ถึงเหตุแห่งการรอนสิทธินั้นในเวลาซื้อขาย  หากผู้ซื้อรู้  ผู้ขายไม่ต้องรับผิด  ดูฎีกาที่ 16897/2557

    9.  นอกจากนี้  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดการรอนสิทธิในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ต้องศาลแสดงว่าตกอยู่ในบังคับแห่งภาระจำยอมโดยกฎหมาย  เว้นไว้แต่ผู้ขายจะได้รับรองไว้ในสัญญาว่าทรัพย์สินนั้นปลอดจากภาระจำยอมใด ๆ ทั้งสิ้น  หรือปลอดจากภาระจำยอมอันนั้น  ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 480

    10.  อายุความรอนสิทธิ  (มาตรา 481)

    หลักเกณฑ์  ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม  หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง  ห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความหรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

    ข้อสังเกต  อายุความการรอนสิทธิมีกำหนด 3 เดือนตามมาตรานี้  ต้องเข้าหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่ง  คือ  กรณีมีการฟ้องร้องเป็นคดีระหว่างผู้ซื้อและบุคคลภายนอกโดยผู้ขายไม่ได้เข้าไปในคดี  หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกหรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง  กรณีนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวคดีมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30  เช่น กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจตามมายึดรถเป็นของกลางในคดีอาญา  ผู้ซื้อจำต้องยอมคืนให้ไป  ไม่ถือเป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง  ไม่เข้ากรณีตามมาตรา 481  จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30  มีกำหนด 10 ปี  ดูฎีกาที่ 2053/2538

    ฎีกาที่ 2053/2538  จำเลยผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิตาม ป.พ.พ.มาตรา 475  แม้จะไม่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม  และเมื่อโจทก์จำต้องยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทซึ่งซื้อมาจากจำเลยไปเพราะเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา ความรับผิดของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 481  แต่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

    11.  กรณีผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ตาม ป.พ.พ. 482

มาตรา 482  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดังกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ถ้าไม่มีการฟ้องคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง หรือ (2) ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า ถ้าได้เรียกเข้ามาคดีฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ หรือ (3) ถ้าผู้ขายได้เข้ามาในคดี แต่ศาลได้ยกคำเรียกร้องของผู้ซื้อเสียเพราะความผิดของผู้ซื้อเอง แต่ถึงกรณีจะเป็นอย่างไรก็ดี ถ้าผู้ขายถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดีและไม่ยอมเข้าว่าคดีร่วมเป็นจำเลยหรือร่วมเป็นโจทก์กับผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ขายคงต้องรับผิด

 

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร  

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน 

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59    โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ        น.บ.ท.65     โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท.71     โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                         โทร. (093 2591669)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์               โทร. (091 8713937)

ติดต่อ ทนายอัม ปิยะอัมพร สุกเเก้ว                   โทร. (061 5619514)