เรื่องที่ 7/2562 ความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินผู้ขายต้องรับผิดอย่างไร

     

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา  472 , 473 , 474

มาตรา 472  ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้ว แต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน (2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน (3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา 474  ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง

 

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64    

โทร. (091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ


ทนาย นุ้ย  สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท.71   (082- 542-2249)    เห็นว่า มีหลักกฎหมาย ดังนี้

    1.  ทรัพย์สินซึ่งขายชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือตามสัญญา  เช่น  ผู้ขายรถยนต์ไม่จัดหาป้ายทะเบียนและป้ายวงกลมซึ่งเป็นสาระสำคัญในการใช้รถให้แก่ผู้ซื้อ  ดูฎีกาที่ 951/2544 

    ฎีกาที่ 951/2544  โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่าซื้อ  โดยมีสภาพเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์  เมื่อรถพิพาทยังมิได้ทำทะเบียนและแผ่นป้ายวงกลม  โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจัดหาให้แก่จำเลยเพราะเอกสารดังกล่าวเป็นสาระสำคัญในการใช้รถ  โดยจะต้องเป็นผู้จัดอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียน  เพื่อใช้รถที่เช่าซื้อตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ  การที่โจทก์ส่งมอบรถพิพาทให้แก่จำเลยมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้  โดยไม่จัดหาป้ายทะเบียนและป้ายวงกลมให้แก่จำเลย  โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 472  ประกอบมาตรา 549  เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน  เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 569  การที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จึงไม่ถือว่าจำเลยผิดนัด

    2.  แม้ทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่อง  แต่ความชำรุดบกพร่องไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือตามสัญญาผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิด  ดูฎีกาที่ 6976/2542

    ฎีกาที่ 6976/2542  โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าปลาป่นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์  จำเลยให้การว่าปลาป่นมีสิ่งอื่นเจือปน  ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากกว่าจำนวนที่โจทก์เรียกร้องขอให้ยกฟ้อง  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยได้รับปลาป่นที่มีขนไก่ปลอมปนแล้ว  จำเลยยังสั่งปลาป่นจากโจทก์ต่อไปอีก 30 คันรถบรรทุก  แสดงว่าแม้ปลาป่นของโจทก์จะมีขนไก่ปลอมปนอยู่บ้างก็น่าจะเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับทำให้ไก่ของจำเลยเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ  การที่ปลาป่นมีขนไก่ปลอมปนอยู่จึงไม่ถึงกับถือได้ว่าเป็นกรณีทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่อง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติในอันที่โจทก์ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อจำเลยผู้ซื้อตาม ป.พ.พ.มาตรา 472  จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 488

    3.  การส่งมอบทรัพย์สินที่ขายไม่ตรงตามสัญญา  ไม่ใช่กรณีทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่อง เช่น  ผู้ขายส่งมอบกระดาษให้ผู้ซื้อผิดไปจากขนาดที่ตกลงกัน  เป็นการไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้  จะนำอายุความเรื่องความชำรุดบกพร่องมาใช้บังคับไม่ได้  ดูฎีกาที่ 5963/2552

    ฎีกาที่ 5963/2552  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพราะส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องโดยบรรยายฟ้องความชำรุดบกพร่องของห้องน้ำว่าส้วมชักโครกใช้การไม่ได้ใช้ห้องน้ำแล้วมีน้ำขัง  ไม่สามารถระบายน้ำลงท่อระบายน้ำได้  ก็เป็นเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา  ไม่ใช่กรณีฟ้องว่าทรัพย์สินที่ส่งมอบชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา  หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาซึ่งจะต้องบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474  แต่เป็นกรณีต้องบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

    4.  ความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ผู้ขายต้องรับผิด  ต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย  หากเกิดภายหลังส่งมอบแล้วผู้ขายไม่ต้องรับผิด

    เช่น  ขณะรับมอบทรัพย์สินที่ขาย  สามารถใช้การได้ดี  แต่เมื่อใช้ไปได้ระยะเวลาหนึ่งจึงอ้างว่าชำรุดบกพร่องเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดภายหลัง  ผู้ขายไม่ต้องรับผิด  และผู้ซื้อไม่มีสิทธิยึดหน่วงราคาไว้ตามมาตรา 488  ดูฎีกาที่ 508/2545 , 1223/2545

    ฎีกาที่ 508/2545  ก่อนที่จำเลยรับมอบเครื่องผลิตไอศกรีมพิพาทจากโจทก์  จำเลยได้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องแล้วซึ่งสามารถใช้การได้ดี  แสดงว่าเครื่องผลิตไอศกรีมดังกล่าวมิได้มีความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาซื้อขาย  หรือในเวลาส่งมอบ  ดังนั้น  การที่เครื่องผลิตไอศกรีมพิพาทเกิดชำรุดบกพร่องหลังจากใช้งานไปได้เกือบ 1 ปี  จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังอันเกิดจากการใช้งาน โจทก์หาต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนี้ไม่  จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระตาม ป.พ.พ.มาตรา 488

    ฎีกาที่ 1223/2545  เมื่อโจทก์ทำและติดตั้งถังคริสตัลที่โรงงานของจำเลยตามสัญญาซื้อขายแล้ว  จำเลยได้ดำเนินการผลิตผงชูรสได้นานประมาณ 2 เดือน  จึงเกิดปัญหาหรือความเสียหายในส่วนชุดกวนของถังคริสตัล  โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว

    5.  ข้อยกเว้น  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่อง  (มาตรา 473)  

    (1)  ผู้ซื้อได้รู้ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง  หรือควรได้รู้เช่นนั้น  หากได้ใช้ความระมัดระวังอันพึงคาดหมายได้แก่วิญญูชน  (มาตรา 473 (1))

    (2)  ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาไว้โดยมิได้อิดเอื้อน (มาตรา 473(2))

    (3)  ทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด  (มาตรา 473(3))

5.1  ถ้าความชำรุดบกพร่องที่ไม่เห็นประจักษ์  แม้ผู้ซื้อรับเอาไว้โดยไม่อิดเอื้อน  ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473(2)  การส่งมอบสินค้าที่ซื้อจำนวนมาก  ศาลฎีกาฟังว่าความชำรุดบกพร่องไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ  ดูฎีกาที่ 8604/2549

    ฎีกาที่ 8604/2549  สิ่งของบางส่วนในจำนวนทั้งหมดที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยตามสัญญามีความชำรุดบกพร่องและไม่ถูกต้องตามสัญญา  แม้จำเลยจะรับมอบสิ่งของจากโจทก์ซึ่งมีจำนวนมากถึง 8,988 ใบ  แต่ก็เป็นการรับมอบในลักษณะเป็นแผ่นกระดาษ  ซึ่งจำเลยจะต้องนำมาพับเป็นกล่องเอง  เมื่อสิ่งของมีจำนวนมากถึง 1 คันรถบรรทุก  ความชำรุดบกพร่องนั้นจึงไม่อาจพบได้ในขณะที่จำเลยรับมอบอันจะถือว่าจำเลยยอมรับมอบการที่ทำจากโจทก์แล้วมิได้อิดเอื้อนหาได้ไม่

6.  ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดเรื่องความชำรุดบกพร่องบังคับกันได้เพราะมิใช่กฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย  แต่ข้อยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องที่ไม่เห็นประจักษ์ในขณะส่งมอบ  เป็นการก่อให้เกิดความได้เปรียบแก่ผู้เช่าซื้อในฐานะผู้บริโภคเกินสมควร  เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 และ 6 ดูฎีกาที่ 2767/2560    

ฎีกาที่ 2767/2560  ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่าเจ้าของไม่ต้องรับผิดชอบความชำรุดบกพร่องใด ๆ ไม่ว่าตรวจพบขณะส่งมอบหรือไม่นั้น  แม้บทบัญญัติเรื่องความรับผิดเรื่องความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ.มาตรา 472 และ 473  คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้เพราะมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยที่จะตกลงเปลี่ยนแปลงไม่ได้  แต่ข้อตกลงที่ยกเว้นความชำรุดบกพร่องที่ไม่เห็นประจักษ์ในขณะส่งมอบและเป็นเรื่องที่ควรอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบธุรกิจ  ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าข้อตกลงลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดความได้เปรียบแก่ผู้เช่าซื้อในฐานะผู้บริโภคเกินสมควร  ย่อมไม่อาจใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 และ 6  เมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา  จำเลยที่ 1  ผู้เช่าซื้อมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าโจทก์จะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 369 โดยการจัดการแก้ไขรถยนต์ที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา หรือเปลี่ยนรถคันใหม่ให้แก่ผู้เช่าซื้อโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา  เมื่อจำเลยที่ 1  นำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งมอบกลับคืนแก่โจทก์  จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ.มาตรา 573  สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน  โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

7.  ผลของการส่งมอบทรัพย์สินชำรุดบกพร่อง

7.1  ผู้ซื้อมีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระ (มาตรา 488)  ดูฎีกาที่ 66-67/2547

ฎีกาที่ 66-67/2547  บ้านที่จำเลยซื้อจากโจทก์ชำรุดบกพร่อง  และโจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย  เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ผู้ขายต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472  ส่วนจำเลยผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 488

7.2  ผู้ซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการชำรุดบกพร่องนั้น  กล่าวคือผู้ซื้อต้องคืนทรัพย์ให้ผู้ขาย  ผู้ขายต้องคืนราคาให้ผู้ซื้อ  และผู้ซื้อยังเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากความชำรุดบกพร่องได้อีก  ความเสียหายที่จะเรียกร้องได้หรือไม่เพียงใดเป็นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 222  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะการเรียกราคาคืนเท่านั้น

ฎีกาที่ 5581/2533  โจทก์ซื้อกระป๋องสำหรับบรรจุปลากับน้ำซอสมะเขือเทศจากจำเลย  เมื่อกระป๋องดังกล่าวเป็นสนิมและมีความชำรุดบกพร่องอย่างอื่นซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตของจำเลยอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 472  แม้โจทก์จะรับของจากจำเลยโดยไม่อิดเอื้อน แต่ขณะที่มีการส่งมอบของนั้นความชำรุดบกพร่องยังไม่เป็นอันเห็นประจักษ์  จำเลยก็หาพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 473(2) ไม่

จำเลยทราบดีว่าโจทก์ซื้อกระป๋องดังกล่าวเพื่อนำไปขายต่อให้แก่ผู้ซื้อในประเทศพม่า  การที่โจทก์ต้องเสียค่าขนส่งกระป๋องทดแทนส่วนที่ชำรุดบกพร่องไปให้ผู้ซื้อเพิ่มเติม  จึงเป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษ  ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว  แม้โจทก์จะนำสืบจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ได้ความแน่ชัด ศาลก็กำหนดให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์

8.  ข้อสังเกต  จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้นแสดงว่าความเสียหายจากทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องมิได้จำกัดเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่ซื้อขายเท่านั้น  จึงอาจเป็นความเสียหายสืบเนื่องจากความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายก็ได้  เช่น  ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มเติม  ค่าหีบห่อสินค้า  ค่าเช่าโกดังเก็บสินค้า  แต่ค่าเสียหายเหล่านี้เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ  ศาลเห็นว่าผู้ขายคาดเห็นล่วงหน้าแล้ว  จึงให้ผู้ขายรับผิดตามมาตรา 222

9.  อายุความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง  มีกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง  (มาตรา 474)

ฟ้องว่าสินค้าที่ซื้อขายไม่มีคุณภาพและคุณสมบัติตรงความมุ่งหมายจะใช้ตามปกติ  เป็นการฟ้องให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง  มีอายุความ 1 ปี  นับแต่เวลาพบเห็นความชำรุดบกพร่อง  ดูฎีกาที่ 2995/2561

ฎีกาที่ 2995/2561  โจทก์ฟ้องว่าเดือนพฤศจิกายน  2555  บริษัท อ. ตัวแทนโจทก์จะนำอะลูมิเนียมฟอยล์ที่จำเลยส่งมอบให้ไปบรรจุยาได้ตรวจพบว่าอะลูมิเนียมฟอยล์ที่จำเลยส่งมอบไม่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยและมีคุณสมบัติไม่ตรงต่อความเหมาะสมอันมุ่งจะใช้ตามปกติ  ไม่สามารถนำมาใช้บรรจุยาขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อบริโภคได้  ซึ่งการสั่งซื้อนี้จำเลยทราบเป็นอย่างดีว่าโจทก์จะนำไปใช้บรรจุยาแอสไพรินขายแก่ประชาชนและโรงพยาบาล  อะลูมิเนียมฟอยล์ที่จำเลยผลิตขายจึงต้องมีคุณภาพดีสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อน  จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ซื้อขายตาม ป.พ.พ.มาตร 472  ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องให้จำเลยรับผิดภายใน 1 ปีนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ.มาตรา 474

แต่การฟ้องว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา  ไม่ใช่ฟ้องเรื่องการส่งมอบชำรุดบกพร่อง  ไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 474   มีอายุความ 10 ปี   ตามมาตรา 193/30     (ฎ.8760/2556)  ดูฎีกาที่ 5963/2552 ข้างต้น

 

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร  

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน 

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59    โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ        น.บ.ท.65     โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท.71     โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                         โทร. (093 2591669)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์               โทร. (091 8713937)

ติดต่อ ทนายอัม ปิยะอัมพร สุกเเก้ว                   โทร. (061 5619514)