เรื่องที่ 5/2562 การซื้อขายที่ดินมือเปล่า กับผลทางกฎหมาย

     

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา  1377 , 1378

มาตรา 1377  ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง ถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าการครอบครองไม่สุดสิ้นลง

มาตรา 1378  การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

 

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64    

โทร. (091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ


ทนายนุ้ย  สุพรรณี  สนมศรี    (082-542-2249)    เห็นว่าการซื้อขายที่ดินมือเปล่ามีหลัก ดังนี้

    ที่ดินมือเปล่า  คือ ที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ (เช่น โฉนดที่ดิน  โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว  โฉนดแผนที่)  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

    1.  ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3  หรือ  น.ส. 3 ก.)  แม้จะเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง  แต่ทางราชการได้จัดทำทะเบียนสำหรับการทำนิติกรรมไว้แล้ว

    2.  ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)  หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5)  หลักฐาน สปก.4-01  หรือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือหลักฐานอะไรเลย

    แม้ที่ดินมือเปล่าทั้ง 2 ประเภท  จะเป็นที่ดินที่เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง  แต่ก็มีความแตกต่างกัน  โดยที่ดินมือเปล่าที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 , น.ส. 3 ก.) ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีหลักฐานทางทะเบียน  ส่วนที่ดินมือเปล่าอีกประเภทหนึ่งไม่ถือเช่นนั้น สภาพเช่นนี้ย่อมทำให้การซื้อขายที่ดินมือเปล่าทั้ง 2 ประเภท  แตกต่างกันดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ใน ฎ.2626/2525 และ 2434/2528 ว่า.....การโอนสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) นั้น  อาจทำได้โดยสมบูรณ์ด้วยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดินมาตรา 4 ทวิ  ซึ่งเป็นการทำตามแบบประการหนึ่งกับการโอนโดยข้อเท็จจริงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 , 1378  ซึ่งไม่ใช่การทำตามแบบอีกประการหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าที่ดินมือเปล่าประเภทนี้สามารถซื้อขาย (โอนสิทธิ) ได้ 2 วิธี  ส่วนที่ดินมือเปล่าอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 , น.ส. 3 ก.)  ย่อมทำเพื่อให้ได้รับผลทางกฎหมายได้เพียงวิธีเดียว  คือการโอนโดยข้อเท็จจริงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 , 1378  เพราะที่ดินประเภทนี้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน  โดยสภาพย่อมไม่อาจทำตามแบบคือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อยู่ในตัวนั่นเอง

    1.  คำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่า  สัญญาซื้อขายที่ดินมือเปล่าที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 , น.ส. 3 ก.) ผู้ขายส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเข้าครอบครองแล้วย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบ  ผู้ซื้อย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินทันทีตามมาตรา 1377 , 1378  ดูฎีกาที่ 1828/2559 

    ฎีกาที่ 1828/2559  แม้การซื้อขายที่ดินระหว่าง ต. กับโจทก์ผู้ซื้อมิได้ไปจดทะเบียนกันโดยถูกต้อง  ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคหนึ่ง  แต่ขณะซื้อขายที่ดินพิพาทมีเพียง น.ส. 3 ก.  ยังไม่มีการออกโฉนดเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ซึ่งเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง  การซื้อขายที่ดิน น.ส. 3 ก.  ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครอง  โจทก์ผู้ซื้อเข้าไปปลูกที่พักอาศัยได้ภายหลังชำระราคาแก่ ต. ครบถ้วน  แสดงว่าผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของเดิมได้สละเจตนาครอบครองให้แก่โจทก์โดยไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378

    2.  แม้สัญญาซื้อขายที่ดินมือเปล่ามีผลสมบูรณ์โดยส่งมอบก็ตาม  แต่เมื่อสัญญาซื้อขายมีผลเป็นโมฆะ  ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายได้  เช่น ฟ้องขอให้ผู้ขายไปรังวัดที่ดินหรือไปจดทะเบียนโอนให้แก่ตนไม่ได้  ดูฎีกาที่ 15551/2553

    ฎีกาที่ 15551/2553  ที่ดินพิพาทที่ซื้อขายกันเป็นที่ดินมือเปล่า (ภ.บ.ท. 5)  เจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง  เมื่อสัญญาระบุว่าจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์  โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยทั้งสองแล้วในวันทำสัญญา  โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวแล้วตาม  ป.พ.พ. มาตรา 1377 , 1378  สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาอีก  ดังนั้นการที่โจทก์จะเข้าทำการรังวัดแนวเขตที่ดินเพื่อครอบครองทำประโยชน์  จึงไม่ใช่ข้อผูกพันอันเกี่ยวเนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท  การที่จำเลยทั้งสองคัดค้านและขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์ทำการรังวัด  จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย  ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองไปทำการรังวัดแนวเขตที่ดินพิพาทหรือให้คืนเงินค่าซื้อที่ดิน

    3.  สัญญาซื้อขายที่ดินมือเปล่าที่ยังไม่ได้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อ  สัญญาซื้อขายนั้นก็คงเป็นโมฆะอย่างเดียว  ไม่อาจจะสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครองได้  และจะฟ้องให้ส่งมอบก็ไม่ได้  ดูฎีกาที่ 394/2508

    ฎีกาที่ 394/2508  จำเลยขายที่ดินมือเปล่าให้แก่โจทก์  ทำหนังสือสัญญากันเอง  ทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว  แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาและขัดขวางไม่ให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท  ดังนี้  สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาด  เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ  จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์  โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินและขับไล่จำเลยไม่ได้

    4.  การซื้อขายที่ดินมือเปล่า  โดยมีเจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นสัญญาจะซื้อขาย  การที่ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ  ถือว่าผู้ซื้อครอบครองแทนผู้ขาย  ผู้ซื้อจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง  ดูฎีกาที่ 7221/2552

    ฎีกาที่ 7221/2552  สัญญาซื้อขายที่โจทก์และ อ. ทำขึ้นแก่กัน  โดยกำหนดข้อตกลงให้คู่สัญญาไปจดทะเบียนโอนแก่กันหลังจากทำสัญญาซื้อขาย 5 ปีเศษ  ดังนี้ สัญญาซื้อขายที่ทำกันจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย  และตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนโอน  สิทธิครอบครองก็ยังไม่โอนไปยังโจทก์ผู้จะซื้อ  แม้จะมีการส่งมอบการครอบครอง แต่ อ. ผู้จะขายก็ยังไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  การครอบครองของโจทก์เป็นเพียงการครอบครองแทน อ. ผู้จะขายเท่านั้น  โจทก์ไม่อาจอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

    5.  สำหรับที่ดินมือเปล่าที่ไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 , น.ส. 3 ก.)  เป็นที่ดินที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน  ในระหว่างเอกชนด้วยกันจึงสามารถตกลงซื้อขายสิทธิครอบครองกันได้  ผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระราคาแก่ผู้ขาย  ดูฎีกาที่ 5408/2557

    ฎีกาที่ 5408/2557  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด  ให้ถือว่าเป็นของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 และที่ราชพัสดุหมายความว่าอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินทุกชนิด  เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ดังนั้น  จำเลยที่ 1  ผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ครอบครองที่ดินพิพาทและขายสิทธิครอบครองนั้นให้แก่โจทก์  โดยโอนไปซึ่งการครอบครองตามมาตรา 1378  ในระหว่างเอกชนด้วยกัน การขายสิทธิครอบครองที่ดินของรัฐใช้บังคับได้ โจทก์ทำนิติกรรมซื้อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมีแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. 5)  และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 11)  จากจำเลยที่ 1  ด้วยใจสมัครตาม ป.พ.พ.มาตรา 149  โดยทราบดีว่าเป็นที่ดินมือเปล่าอันเป็นของรัฐ  เมื่อจำเลยที่ 1  โอนไปซึ่งการครอบครองต้องตามวัตถุประสงค์แล้ว  โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1  คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุได้

    6.  สัญญาซื้อขายที่ดินมือเปล่าตกเป็นโมฆะและยังไม่ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้ขาย  แต่ในสัญญามีข้อความแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าต้องการให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทน  ดังนี้ สัญญาซื้อขายดังกล่าวสมบูรณ์ในฐานเป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทนได้  ผู้ซื้อมีอำนาจฟ้องให้ผู้ขายส่งมอบที่ดินมือเปล่านั้นได้ แต่จะบังคับให้จดทะเบียนโอนที่ดินไม่ได้  ดูฎีกาที่ 378/2525

    ฎีกาที่ 378/2525  การซื้อขายที่ดินมือเปล่าซึ่งตกเป็นโมฆะ  เมื่อปรากฏข้อความในสัญญาว่าผู้ขายยอมมอบที่ดินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อในวันทำสัญญา  กรณีย่อมเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่าถ้าคู่สัญญาได้รู้ว่าการซื้อขายไม่สมบูรณ์  ก็คงจะตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาโอนการครอบครองโดยมีค่าตอบแทน  ผู้ซื้อจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินที่ซื้อขายได้ แต่จะบังคับให้โอนที่ดินโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หาได้ไม่

    7.  สำหรับที่ดินมือเปล่าที่ไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  หรือมีเพียงหลักฐานตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1)  ไม่อาจโอนกันทางทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. 2497 มาตรา 9  การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินลักษณะดังกล่าว  จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้ผู้ขายไปจดทะเบียนโอนได้  ดูฎีกาที่ 2505/2533

    ฎีกาที่ 2505/2533  ที่ดินที่ซื้อขายมีเพียง ส.ค.1  ไม่อาจโอนกันได้โดยการแสดงเจตนาทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ศาลจะบังคับให้โอนทางทะเบียนไม่ได้

    8.  ข้อสังเกต  สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. 3 , น.ส. 3 ก.)  เป็นที่ดินที่มีทะเบียนแล้ว  จึงสามารถทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ  ผู้จะซื้อที่ดินดังกล่าวจึงฟ้องร้องบังคับให้ผู้จะขายจดทะเบียนโอนให้ได้

    สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นโมฆะ  อาจได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์

    สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง  ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อแล้ว  การครอบครองของผู้ซื้อเป็นการครอบครองตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อตนโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ  เมื่อครบ 10 ปี  ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382  ดูฎีกาที่ 3670/2547 , 201/2497

    ฎีกาที่ 3670/2547  สัญญาซื้อขายที่ดินที่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคหนึ่งนั้น  เมื่อ จ. ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินให้ ย. ผู้ซื้อครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ  ต่อมา ย. ยกที่ดินให้ ส. บิดาผู้ร้อง และสืบทอดมายังผู้ร้อง  เป็นเวลากว่า 10 ปี  ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

 

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร  

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน 

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59    โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ        น.บ.ท.65     โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท.71     โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                         โทร. (093 2591669)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์               โทร. (091 8713937)

ติดต่อ ทนายอัม ปิยะอัมพร สุกเเก้ว                   โทร. (061 5619514)