มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท. 64
โทร (091 8713937) หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com นะครับ
ป.พ.พ. มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น
ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย น.บ.ท. 59 (097 2590623) สืบค้นแล้ว มีหลักกฎหมาย ดังนี้
1. กลฉ้อฉลที่จะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะได้นั้น จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้นการอันนั้นจะมิได้ทำขึ้นเลย หมายถึง หากไม่มีกลฉ้อฉลนั้นอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่เข้าทำนิติกรรมด้วย ดูฎีกาที่ 4328/2559 , 7394/2550 , 2044/2540 , 5975/2540 , 2853/2525
ฎีกาที่ 7394/2550 โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์แล้วเป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล หากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา 159 โจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175(3)เท่านั้น สัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะ หาใช่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
ข้อสังเกต ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ต้องเป็นการสำคัญผิดที่ผู้ทำนิติกรรมตั้งใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้ มิใช่กรณีที่โจทก์จดทะเบียนซื้อขายที่ดินเพราะเข้าใจว่าเป็นนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งไม่ แต่เป็นเพราะเข้าใจว่ามีการโอนเงินค่าที่ดินให้แก่บุตรของโจทก์แล้ว จึงมิใช่การสำคัญผิดในลักษณะแห่งนิติกรรม
ฎีกาที่ 2044/2540 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์โดยชี้ที่ดินแปลงอื่นว่าเป็นที่ดินที่จะขายเพื่อปกปิดเรื่องที่ดินที่จะขายมีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านอยู่ เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อ เมื่อที่ดินที่ซื้อขายมีประมาณ 16 ไร่ ส่วนที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ประโยชน์ไม่ได้เกือบ 5 ไร่ โจทก์ต้องการซื้อที่ดินเพื่อจัดสรรสร้างเป็นที่อยู่อาศัย กลฉ้อฉลจึงถึงขนาดที่ว่าหากจำเลยมิได้กระทำกลฉ้อฉลโจทก์จะไม่เข้าทำนิติกรรมกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์จึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา 121 เดิม
ฎีกาที่ 5975/2540 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลย โดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินที่ซื้อ จำเลยยืนยันว่าที่ดินมีเนื้อที่ตรงตาม ส.ค.1 ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ให้เข้าทำสัญญา หากไม่มีการหลอกลวงโจทก์จะไม่เข้าทำสัญญา สัญญาจะซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์มีสิทธิบอกล้างตามมาตรา 175 (3)
ฎีกาที่ 2853/2525 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทำสัญญาให้เช่าที่ดินพิพาทแก่ ป. และทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ตามสัญญาเช่าผู้ให้เช่าตกลงว่าหากจะขายทรัพย์สินที่เช่าผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้า และให้ผู้เช่าตกลงซื้อได้ก่อน การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ใช้อุบายหลอกลวงจำเลยด้วยการนำเอาความเท็จมาแจ้งแก่จำเลยว่า ผู้เช่ายินยอมให้ขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ แม้จะเป็นความจริงก็มิใช่กลฉ้อฉลอันถึงขนาดที่จะทำให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะ เพราะตามสัญญาเช่านั้นเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ให้เช่าที่จะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบว่าจำเลยตกลงขายให้ผู้ใด เป็นเงินเท่าใดหาใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องแจ้งแก่จำเลยไม่
2. ตกลงขายที่ดินมือเปล่า โดยหลอกลวงว่าเป็นที่ดินที่สามารถออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินได้ทั้งหมด ความจริงผู้ขายทราบอยู่แล้วว่าสามารถออกหนังสือสำคัญได้บางส่วน แม้ผู้ซื้อเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญเองก็ตามเป็นการทำนิติกรรมโดยถูกกลฉ้อฉล ดูฎีกาที่ 7211/2549
ฎีกาที่ 7211/2549 โจทก์ผู้ขายได้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายให้แก่จำเลยผู้ซื้อแล้ว จำเลยตกลงจะชำระราคาที่เหลือให้โจทก์ภายหลังมีการโอน น.ส.3 หรือโฉนดที่ดินถูกต้องเสร็จสิ้นแล้วซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการ แต่การจะออก น.ส. 3 หรือ โฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้หรือไม่ เพียงใด ขึ้นอยู่กับสภาพของที่ดินพิพาทที่อยู่ขณะทำสัญญาว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ทางราชการจะออก น.ส. 3 หรือโฉนดที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยรับรองว่าจะกระทำการใดในอนาคตแล้วไม่ได้กระทำหรือไม่สามารถกระทำได้ตามที่รับรองไว้อันไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่อ บ. มารดาจำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าสามารถขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้ทั้งหมดจึงเป็นการทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา 159 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างนิติกรรมแล้ว จึงตกเป็นโมฆะ
3. จำเลยหลอกลวงว่าธนาคารออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของจำเลย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงว่าจ้างร้านของจำเลยให้ทำความสะอาดอาคารซึ่งหากไม่มีหนังสือค้ำประกันผู้เสียหายจะไม่ตกลงทำสัญญาด้วย สัญญาจ้างจึงเกิดจากกลฉ้อฉล ดูฎีกาที่ 6406/2560
ฎีกาที่ 6404/2560 จำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่าธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันมอบให้ร้านของจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
4. กลฉ้อฉลที่เกิดจากบุคคลภายนอก (มาตรา 159 วรรคสาม)
กรณีที่กลฉ้อฉลเกิดจากบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น (มาตรา 159 วรรคสาม) กรณีตามมาตรา 159 วรรคสามนี้ หมายถึงกรณีที่เป็นนิติกรรมสองฝ่าย ถ้าบุคคลภายนอกทำกลฉ้อฉลให้แสดงเจตนาทำนิติกรรมฝ่ายเดียว ตกเป็นโมฆียะทันที แม้คู่กรณีอีกฝ่ายจะไม่รู้หรือควรจะได้รู้กลฉ้อฉลนั้นก็ตาม ดูฎีกาที่ 5308/2538
ฎีกาที่ 5308/2538 บ. หลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จำนองของโจทก์มอบอำนาจให้ บ. จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของสามีโจทก์ซึ่งมีต่อธนาคาร ส. โจทก์หลงเชื่อจึงจดทะเบียนปลดจำนองให้ การปลดจำนองจึงเกิดจากกลฉ้อฉลของ บ. และเนื่องจากการปลดจำนองเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ฉะนั้นแม้จำเลยจะไม่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นก็ย่อมเป็นโมฆียะ โจทก์มีสิทธิบอกล้างเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้
PsthaiLaw.com (091 871 3937) เรียบเรียงบทความนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน จากเนื้อหาในหนังสือแพ่งพิสดาร ของอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์
ติดต่อ ทนายปิยะอัมพร สุกแก้ว โทร. (061 5619514)
ติดต่อ ทนายวิเชียร สุภายุทธ น.บ.ท. 65 โทร. (081 4559532)
ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี สนมศรี น.บ.ท. 71 โทร. (082 5422249)
ติดต่อ น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท. 64 โทร. (091 8713937)
© 2015 All Rights Reserved