น้าสิดทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ 091 871 3937 , 086-377 9678 ได้ตอบคำถามและได้ฟ้องคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพื่อทวงสิทธิให้ลูกจ้างปีละหลายคดี เห็นว่าหลักเกณฑ์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมที่ ท่านอาจารย์ พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น เขียนไว้ในคำอธิบายกฎหมายแรงงานเพื่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีประโยชน์ต่อประชาชนมาก จึงนำมาลงไว้
หลักเกณฑ์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไป ในอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในขณะเลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างและนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”
จากบทบัญญัติดังกล่าวสรุปหลักเกณฑ์ได้ว่า หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมลูกจ้างมีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง หรืออาจให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแทนก็ได้
“การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม” หมายถึง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือแม้มีสาเหตุอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจนถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างนั้น
ตัวอย่างเช่น นายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากโกรธเคืองลูกจ้างเป็นการส่วนตัว หรือลูกจ้างมาทำงานสายเพียง 10 นาที ลูกจ้างไม่ยื่นใบลาป่วยภายในเวลาที่กำหนด ลูกจ้างพูดคุยในระหว่างปฏิบัติงาน แต่งกายไม่เรียบร้อย จะเห็นได้ว่าการทำผิดของลูกจ้างเป็นเรื่องเล็กน้อย นายจ้างยังไม่มีสาเหตุที่สมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้าง หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยสาเหตุเหล่านี้ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ในทางตรงข้าม หากนายจ้างมีสาเหตุที่สมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เช่น ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดร้ายแรง นายจ้างขาดทุนต้องปิดกิจการ ย่อมถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่จะต้องพิจารณาจากสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่จ่ายค่าชดเชย จะถือเป็นเด็ดขาดว่านายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้ เพราะความรับผิดในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเป็นเรื่องผลของการเลิกจ้างไม่ใช่สาเหตุของการเลิกจ้าง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 นั้น จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นมูลให้มีการเลิกจ้างว่าเป็นสาเหตุที่สมควรหรือไม่ การไม่จ่ายค่าชดเชยมิใช่เป็นสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ไม่ได้อยู่ด้วยเหตุที่ว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เพราะการไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นผลที่ตามมาภายหลังจากการเลิกจ้างแล้ว
สำหรับสาเหตุของการเลิกจ้างอาจเกิดได้หลายกรณี ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากตัวลูกจ้างเสมอไป สาเหตุอาจเกิดจากนายจ้าง ลูกจ้าง หรือปัจจัยภายนอกก็ได้ ดังนั้น แม้การเลิกจ้างไม่ได้เกิดจากความผิดของลูกจ้าง แต่ถ้าการเลิกจ้างนั้นมีสาเหตุที่สมควรและเพียงพอก็ถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมได้
สาเหตุที่มาจากนายจ้าง เช่น นายจ้างประกอบกิจการขาดทุนจำต้องยุบหน่วยงานที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือจำเป็นต้องเลิกประกอบกิจการ คดีเรื่องหนึ่ง นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากประสบภาวะขาดทุนหมดความจำเป็นที่จะจ้างลูกจ้าง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่านายจ้างชอบที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ แม้ลูกจ้างจะมีนิสัย ความประพฤติ ผลงานดีและร่วมมือกับนายจ้างดีสักเท่าใดก็ตาม กรณีไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สาเหตุที่เกิดจากลูกจ้าง เช่น ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดร้ายแรง ฯลฯ
ส่วนสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การเลิกจ้างเป็นไปโดยผลของกฎหมายเนื่องจากลูกจ้างขาดคุณสมบัติ เช่น ลูกจ้างทำงานเป็นลูกจ้างนายจ้างก่อนที่นายจ้างจะเปลี่ยนฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อนายจ้างเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว พนักงานของนายจ้างได้เปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ลูกจ้างมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 9 (2) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุตามกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือนายจ้างควบรวมกิจการเข้ากับนิติบุคคลอื่นและไม่มีตำแหน่งสำหรับลูกจ้าง นายจ้างจำต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ทนายหนูเพียร สามนต์ เห็นว่า
1. เงินค่าชดเชยการเลิกจ้าง กับ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นเงินคนละเรื่องกัน
2. ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอาจตกลงสละสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
3. แม้นายจ้างไม่ได้อ้างเหตุผลของการเลิกจ้างในหนังสือเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบนายจ้างก็อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลว่าเลิกจ้างเป็นธรรมได้
4. กรณีที่ศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิม หากนายจ้างปฏิเสธไม่ยอมรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือ กลับเข้าทำงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม ลูกจ้างมีสิทธิ์บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้
5. ดอกเบี้ยสำหรับค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ร้อยละ 7.5 ต่อปี
6. อายุความฟ้องคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ภายใน 10 ปี
ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย เห็นว่า
1. ฟ้องคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างควรหาทนายฟ้องคดีต่อศาลแรงงานโดยตรงได้เลย ไม่ต้องร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่แรงงาน หรือ ผู้ตรวจแรงงานก่อน (ฟ้องได้เลย)
2. ที่ PSthaiLaw.com ให้คำแนะนำ คือ ลูกจ้างควรหาทนายฟ้องศาลแรงงานเป็นคดีเดียวกัน เรียกร้องทั้งสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า , ค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับ , ค่าชดเชยสูงสุด 400 วัน และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นคดีเดียวกันเลย
3. น่าเสียดายว่า บางคดีลูกจ้างไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่แรงงานว่าถูกไล่ออกโดยนายจ้างอ้างว่า ผิดวินัยร้ายแรง ต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจแรงงานวินิจฉัยว่าลูกจ้างไม่ผิดวินัยร้ายแรงให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย 300 วัน หรือ 10 เดือน (ทำงานเกิน 10 ปี) เป็นเงิน 5 แสนบาท แต่สั่งว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน เป็นเงิน 1 แสนบาท (เงินเดือน เดือนละ 5 หมื่นบาท) เพราะนายจ้างอ้างว่าลูกจ้างทำงานไม่เรียบร้อย ไม่ทำบัญชีควบคุมอะไหล่เครื่องจักรให้เรียบร้อย เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง และสุจริต จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ.583
3.1 นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จ่ายค่าชดเชย 300 วัน (10 เดือน) จึงนำคดีมาฟ้องศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน
3.2 อัยการคดีแรงงานที่ทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่จำเลยผู้ตรวจแรงงานที่ถูกฟ้อง
3.3 ศาลแรงงานให้อัยการคดีแรงงาน เรียกลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอัยการช่วยทำคำให้การให้ลูกจ้างด้วย
3.4 ก่อนนัดสืบพยานผู้พิพากษาศาลแรงงานเจ้าของคดีได้ไกล่เกลี่ย ให้ทนายของนายจ้างถอนฟ้อง และทั้งนายจ้างกับลูกจ้างยอมรับว่าไม่ติดใจบังคับตามคำสั่งผู้ตรวจแรงงานและให้ลูกจ้างรับเงินค่าชดเชย 300 วัน (ห้าแสนบาท) ที่นายจ้างนำมาวางศาลเพื่อมีสิทธิฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 125
3.5 ต่อมา นายจ้างถอนฟ้อง และ ลูกจ้างรับเงินค่าชดเชย ห้าแสนบาทไปจากศาล
4. ลูกจ้างมาปรึกษาและให้ทนายความฟ้องคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
4.1ทนายความของนายจ้างยื่นคำให้การ ว่าลูกจ้างไม่มีอำนาจฟ้องเพราะรับเงินค่าชดเชยไปแล้ว
4.2 และนายจ้างเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างและลูกจ้างรับจากศาลแรงงานในคดีเดิมแล้ว จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องเป็นคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีก
4.3 ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ของตนไม่เรียบร้อย และไม่สุจริต เพราะไม่ทำบัญชีคุมอะไหล่เครื่องจักรให้เรียบร้อย ตามคำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน
น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตน์พงศ์ เห็นว่า
1. พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยโดยใช้ถ้อยคำใน ป.พ.พ.583 เพื่อให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายคำบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 2 เดือน ไม่น่าชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากลูกจ้างทุจริตหรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง และสุจริตนั้น นายจ้างสามารถไล่ลูกจ้างออกทันที (โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า) หรือให้เงินค่าชดเชย(สินไหมทดแทน)ก็ได้ แต่นายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยให้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118
2. ซึ่งการที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง แสดงถึงว่าลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดจึงถูกเลิกจ้างตาม มาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
3. เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด จึงต้องให้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2 เดือน แล้วให้ลูกจ้างออกจากงานทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาหางานทำที่อื่น ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 17 วรรค 2 และวรรค 3 ซึ่งสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าคือค่าจ้างนั่นเอง ตามมาตรา 5
4. เมื่อสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน คือค่าจ้าง จึงให้มิให้นายจ้างหักค่าจ้าง โดยอ้างว่าลูกจ้างทำบัญชีอะไหล่เครื่องจักรไม่เรียบร้อย ตามมาตรา 76
4.1 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า นายจ้างมีหนังสือเลิกจ้างทันทีหรือไล่ออกทันทีห้ามลูกจ้างเข้าที่ทำงาน ลูกจ้างจึงไม่มีโอกาสได้เคลียร์งานบัญชีอะไหล่เครื่องจักรที่ตนรับผิดชอบให้เรียบร้อยก่อนออกจากงาน
5. น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ เห็นว่า หากลูกจ้างพอมีกำลังว่าจ้างทนายความได้ ควรปรึกษาทนายความ และ ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานโดยตรงเลย ดีกว่า ไม่เสียเวลาและทนายความของลูกจ้าง มักรักษาประโยชน์ที่ลูกจ้างควรได้รับดีกว่า ซึ่งทนายความกับลูกจ้างสามารถวางแผนและเตรียมคดีตั้งแต่ต้นเรื่องได้ดีกว่า
6. เว้นแต่ คดีที่ลูกจ้างไม่มีเงินจ้างทนายความ และคดีที่ลูกจ้างไม่ประสงค์ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
7. หากลูกจ้างมีปัญหาถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะฟ้องคดีแต่ยังไม่มีทนาย ค่อยปรึกษาน้าสิดนะครับ เบอร์โทร 091-871 3937 , 086-377 9678
7.1 หากมีทนายความอยู่แล้ว อ่านบทความนี้ก็เพียงพอครับ
- PSthiaLaw.com นำเนื้อหามาจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายแรงงานของ อาจารย์ พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น (31-8-2560)
© 2015 All Rights Reserved