18-8-59 ข่าว - A Crime of Pure Evil
-IGNORE & ORDER
PS ThaiLaw.com ได้รับคำถามเรื่องนี้ ผ่านทาง E-mail : Pongrut.ku40@gmail.com
๐ น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 091-871 3937
๐ พี่น้อย ทนายปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64 085-146 3778
๐ พี่ชายน้อย ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย น.บ.ท.59 061-576 8275
๐ พี่เอก ทนายขัตติยะ นวลอนงค์ น.บ.ท.62 096-815 2471
๐ พี่ป้อม ทนายพันศักดิ์ พัวพันธ์ น.บ.ท.64 084-333 6995
จึงช่วยกันเรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน
ทนายสมปราถน์ ฮั่นเจริญ 081-9024557 เห็นว่า ต้องดู ป.อาญา 341 และ 342
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
1. ความผิดฐานฉ้อโกงกับการผิดสัญญาหรือคำรับรองในทางแพ่ง
การไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง บางกรณีเป็นปัญหาคาบเกี่ยวว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งหรือเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงด้วย แนวการพิจารณาคือ ต้องดูว่าขณะทำสัญญาหรือให้คำรับรอง จำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรองนั้นหรือไม่ ถ้ามีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง แม้ภายหลังไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรองนั้นได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จะถือว่าเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่ได้ เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 19657/2557 , 1229/2536 , 151-152/2537 , 707/2516 , 3784/2532 , 1674-1675/2543 , 2067/2548
ฎีกาที่ 19657/2557 จำเลยทำสัญญาลากจูงทางทะเลระหว่างประเทศ (เหมา) เพื่อทำการลากจูงเรือดำน้ำของโจทก์ร่วมจากราชอาณาจักรสวีเดนมายังราชอาณาจักรไทยโดยปลอดภัย แต่เรือดำน้ำของโจทก์ร่วมจมเสียก่อนระหว่างทำการลากจูงในทะเลเหนือ และไม่สามารถนำมายังราชอาณาจักรไทยได้ จึงเป็นเรื่องในอนาคตที่จำเลยรับทำแล้วแต่ไม่สำเร็จและมิใช่จำเลยตั้งใจจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรองของจำเลย ก่อนทำสัญญาว่าจำเลยประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับการลากจูงเรือเดินสมุทรมาหลายปี มีกัปตัน เรือ และเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์ความสามารถ และจำเลยเป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรที่สามารถลากจูงเรือดำน้ำของโจทก์ร่วมได้ ดังนี้ จึงไม่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
ฎีกาที่ 1229/2536 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยให้คำรับรองต่อโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจะชำระหนี้แทน ส. ภายในวันที่ 30 เมษายน 2534 และขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์โจทก์หลงเชื่อจึงถอนคำร้องทุกข์ คำรับรองดังกล่าวจึงเป็นคำมั่นสัญญาที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคต ขณะให้คำรับรองยังไม่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดตามคำรับรองแล้วจำเลยจะไม่ไปปฏิบัติตามคำรับรองดังกล่าว คำรับรองดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อความเท็จนอกจากจำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรอง จึงจะถือได้ว่าจำเลยแสดงข้อความเท็จแต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรองฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง
ฎีกาที่ 151-152/2537 ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน จำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใด ๆ เท่านั้น ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้วการเวนคืน ถึงหากจะมีก็ยังไม่เป็นการแน่นอนในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
ฎีกาที่ 1674-1675/2543 เมื่อผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญายังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด เพราะที่ดินก็มีอยู่จริงโดยจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญาจะซื้อไว้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเป็นเวลาในอนาคต หาใช่การหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
2. แต่ถ้าขณะทำสัญญาจำเลยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก ที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรอง คงอาศัยสัญญาหรือคำรับรองเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลอุบายให้ผู้ครอบครองทรัพย์ส่งมอบทรัพย์นั้นให้เท่านั้น ดังนี้ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ข้อเท็จจริงที่แสดงว่าจำเลยมีเจตนามาทุจริตมาแต่แรกที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรองนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน เช่น สั่งจ่ายเช็คของผู้อื่นในนามของตนเอง เป็นการแสดงข้อเท็จจริงปัจจุบันว่าเช็คเป็นของตน หรือขายที่ดินโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของตนเองซึ่งเป็นเท็จความจริงเป็นที่ดินของผู้อื่น หรือข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดหาคนงานไปทำงานในต่างประเทศหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ดูฎีกาที่ 5401/2542
ฎีกาที่ 5401/2542 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยสามารถจัดให้ผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศได้โดยจำเลยปกปิดข้อความจริงว่าจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหาคนงานไปทำงานในต่างประเทศ จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลยจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงมิใช่ผิดสัญญาทางแพ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเพียงแต่ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีการกล่าวข้อความอันไม่ผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 2303/2518
ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย เห็นว่า
1. พฤติการณ์หลอกลวง อาจกระทำโดยมีการวางแผนเป็นขั้น ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อแล้ว แล้วส่งมอบทรัพย์ให้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำรับรองมาแต่แรกแล้ว คำรับรองของจำเลย จึงเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในปัจจุบัน เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ฎีกา 4005/2551
การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหาร ดังนั้น การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารที่จำเลยหลอกโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามแต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
การกระทำความผิดของจำเลยไม่สุจริตมุ่งเอาประโยชน์ในทรัพย์ของผู้อื่นเป็นเงินจำนวนมาก โดยจำเลยไม่ได้กระทำการใดที่แสดงว่าสำนึกผิดและมีเหตุอันควรปรานี แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุก
2. เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเพียงแต่ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ ไม่ผิดฐานฉ้อโกง ฎีกาที่ 2303/2518
ฎีกาที่ 2303/2518 ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยไปซื้อของ จัดการขายของที่ซื้อแล้วมอบทุนและกำไรให้ผู้เสียหาย โดยจำเลยได้ค่าจัดการ และโดยผู้เสียหายมิได้คำนึงว่าจำเลยจะไปซื้อของจากสโมสรท่าเรือตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ จำเลยนำกำไรมามอบให้ผู้เสียหายหลายคราว แต่ในที่สุดจำเลยก็มิได้มอบทุนและกำไรให้ผู้เสียหายครบถ้วน เช่นนี้ แม้จำเลยจะบอกผู้เสียหายว่ามีสิทธิออกของตามที่จำเลยอ้างก็ตาม ก็หาใช่เป็นข้อสำคัญที่จะถือว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายอันจะเอาผิดแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้ไม่ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ได้รับรองไว้ต่อผู้เสียหายเท่านั้น
น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ เห็นว่า
1.คดีฉ้อโกง เป็นความผิดอันยอมความกันได้ ศาลมักให้มีการไกล่เกลี่ย คืนทรัพย์ ชดใช้ค่าเสียหาย หรือ ถอนฟ้องกัน หากตกลงกันได้จำเลยอาจรับสารภาพ นำค่าเสียหายทั้งหมดวางศาลแบบไม่ขอรับคืน แล้วไปแถลงขอความเมตตาจากศาลขอให้รอการลงโทษ
2. การต่อสู้คดีมีข้อต่อสู้ ที่ทนายความมักหยิบขึ้นมาต่อสู้ที่น่าสนใจคือ ความเป็นผู้เสียหายนิตินัย เช่น ฎีกา 6969/2555
3. ตัวอย่าง คดีที่น่าสนใจคือ บริษัทลูกของบริษัทใหญ่ ในตลาดหลักทรัพย์ ให้ผู้จัดการฝ่ายขายของตนจ่ายเงินใต้โต๊ะ ให้พนักงานฝ่ายจัดซื้อของบริษัทคู่ค้าตามสัดส่วนหรือเปอร์เซนต์จำนวนการสั่งซื้อสินค้า
3.1 จะจ่ายใต้โต๊ะ เป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดซื้อ เมื่อได้รับเงินแล้ว
3.2 เงินใต้โต๊ะ ถูกนำมาคำนวณเป็นต้นทุนค่าสินค้าด้วย
3.3 ด้วยปัญหาทางบัญชี และจริยธรรม บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จึงต้องให้ผู้จัดการฝ่ายขายตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เป็นของผู้จัดการฝ่ายขายเองทำหน้าที่นี้ คือ จ่ายเงินใต้โต๊ะให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไปดำเนินการ
3.4 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะจ่ายใต้โต๊ะ เมื่อได้รับเงินค่าสินค้าแล้ว
3.5 เงินใต้โต๊ะ นี้ได้ใบเสร็จรับเงิน(ค่าคอมมิชชั่น) จากห้างหุ้นส่วนจำกัดของผู้จัดการฝ่ายขาย
3.6 ต่อมา ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทำงานไม่ถูกใจ CEO หรือประธานบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จึงถูกทวงถามว่าจะเรียกเงินคืน
3.7 ผู้จัดการฝ่ายตลาดบอก CEO ว่า เงินส่วนหนึ่งไม่ได้นำไปจ่ายให้ฝ่ายจัดซื้อของบริษัท
3.8 CEOโกรธมากจึง ให้ กรรมการผู้จัดการ MD. บริษัทในตลาดไล่ออกและฟ้องผู้จัดการฝ่ายการตลาด ว่าฉ้อโกงเงินค่าคอมมิชชั่น
3.9 ผู้จัดการฝ่ายตลาด ได้ถามน้าสิด ว่าผมจะสู้คดีนี้อย่างไรครับ(น้าสิดตอบและแนะนำทนายความให้แล้วครับ)
4. น้าสิดเห็นว่า ฎีกา 6969/2555 น่าสนใจศึกษา เรื่องความเป็นผู้เสียหายนิตินัยหรือไม่
5. น้าสิดเห็นว่า ฎีกา 2922/2524 น่าสนใจศึกษา หากมีข้อสัญญาว่าจำเลย จะได้รับค่าตอบแทนต่อเมื่อผู้เสียหายได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนแล้ว หาใช่เป็นการหลอกลวงไม่ จึงไม่ผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6969/2555
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดโจทก์
นางวารุณี จารุพันธ์ กับพวกโจทก์ร่วม
นางสาวสำอางค์ ชนประเสริฐจำเลย
ประมวลกฎหมายอาญา ม.341
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.2 (4)
จำเลยพูดหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 เท่านั้น จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 2 หรือเจตนาให้ได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 2 การที่โจทก์ร่วมที่ 2 รับฟังเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและประสงค์ร่วมลงทุนกับโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย โดยโอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 39 0,000 บาท และผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 330,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางวารุณี ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาววรรณา ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 8 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 390,000 บาท และโจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 330,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าจะยกที่ดินและมีญาติของจำเลยจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมที่ 1 หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยไป คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ เห็นว่าพฤติการณ์การพูดหลอกลวงของจำเลยตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 ได้ความว่าเป็นการพูดเพื่อให้มีผลต่อโจทก์ร่วมที่ 1 และได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 เท่านั้น จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 2 หรือเจตนาให้ได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 2 แต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่าการที่โจทก์ร่วมที่ 2 รับฟังเรื่องราวดังกล่าวจากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริงเช่นเดียวกับโจทก์ร่วมที่ 1 และประสงค์ร่วมลงทุนกับโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย จึงได้โอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมที่ 1 หลายครั้งเป็นเงินรวม 330,000 บาท เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยนั้น เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยต่อโจทก์ร่วมที่ 2 และส่งผลให้โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายในคดีนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย และยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(ทัศนีย์ จั่นสัญจัย ธรรมเกณฑ์-สุทธินันท์ เสียมสกุล-ปิยกุล บุญเพิ่ม)
ศาลแขวงตลิ่งชัน - นายปกรณ์ รัตนพิทย์
ศาลอุทธรณ์ - นายรังสรรค์ วิจิตรไกรสร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2922/2524
พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการโจทก์
นางอุสาทิพย์ พิทักษ์หมู่ กับพวกจำเลย
ประมวลกฎหมายอาญา ม.80, 83, 341
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.213, 225
จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าบริษัท บ. จะยุบตัวแทนจำหน่ายเบียร์แห่งหนึ่งจำเลยสามารถติดต่อให้ผู้เสียหายเป็นตัวแทนของบริษัท บ. ได้ โดยจำเลยขอค่าสมนาคุณเป็นเงินจำนวนหนึ่งแต่สัญญาจ่ายค่าสมนาคุณระบุว่าจะจ่ายค่าสมนาคุณก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์เรียบร้อยแล้วซึ่งเป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนดังนั้นแม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยและลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจ่ายค่าสมนาคุณให้จำเลยไป จำเลยก็ไม่ได้ทรัพย์สินไปจากผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
· โจทก์ฟ้องจำเลยหลายคนว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษแต่จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุด เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดซึ่งเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกาย่อมพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ให้มิต้องถูกรับโทษด้วย
· โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามโดยทุจริตได้ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงนายชองผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่จำกัด จะยุบตัวแทนจำหน่ายเบียร์ตราสิงห์ที่จังหวัดสมุทรปราการและจะหาบุคคลอื่นเป็นตัวแทน จำเลยทั้งสามรู้จักนายพลและผู้จัดการบริษัทฯ สามารถติดต่อให้ผู้เสียหายเป็นตัวแทนได้ โดยขอค่าสมนาคุณเป็นเงิน 2,000,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วบริษัทฯ ไม่ได้ยุบตัวแทนและพวกจำเลยไม่เคยรู้จักกับผู้จัดการบริษัทฯ หรือนายพลที่จะติดต่อให้แต่อย่างใด จำเลยทั้งสามลงมือกระทำผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะมีผู้บอกให้ผู้เสียหายรู้ความจริงเสียก่อนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่หลงเชื่อคำหลอกลวงของพวกจำเลยและไม่ได้มอบเงินให้พวกจำเลยไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 341
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษจำคุก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์ฎีกา
· ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่กล่าวอ้างว่าบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่จำกัดจะยุบตัวแทนคนเดิมแล้วตั้งผู้เสียหายเป็นตัวแทนคนใหม่ และผู้เสียหายลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจ่ายค่าสมนาคุณให้จำเลยไป จำเลยก็ไม่ได้ทรัพย์สินอะไรไปจากผู้เสียหายเพราะสัญญาจ่ายค่าสมนาคุณดังกล่าวระบุไว้ในข้อ 2 ว่า ผู้เสียหายจะจ่ายค่าสมนาคุณให้แก่จำเลยก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์ตราสิงห์กับบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทน ถ้าผู้เสียหายไม่ได้เป็นตัวแทนก็ไม่ต้องจ่ายค่าสมนาคุณหรือทรัพย์สินอื่นใด การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหลายคนได้กระทำความผิดฐานเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งให้ลงโทษ แต่จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุด เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกงตามโจทก์ฟ้องซึ่งเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
(อาจ ปัญญาดิลก-จังหวัด แสงแข-ไพศาล สว่างเนตร)
- PSthailaw.com นำเนื้อหามาจากอาญาพิสดาร ของอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์
- หากท่านมีปัญหา เกี่ยวกับคดีต้องการปรึกษาทนายความ กรุณาติดต่อน้าสิด ที่เบอร์ 091-871 3937 หรือ E-mail: Pongrut.ku40@gmail.com นะครับ
© 2015 All Rights Reserved