เรื่องที่ 18 สมคบกันกระทำความผิดในคดียาเสพติด

     

วันนี้ PS ThaiLaw.com  ได้รับคำถามนี้ทาง E-mail : Pongrut.ku40@gmail.com  

 

๐  น้าสิด        ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์      น.บ.ท.64        091-871 3937

๐  พี่น้อย       ทนายปราธูป  ศรีกลับ           น.บ.ท.64        085-146 3778

๐  พี่ชายน้อย  ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59        061-576 8275

๐  พี่เอก        ทนายขัตติยะ  นวลอนงค์      น.บ.ท.62        096-815 2471

๐  พี่ป้อม       ทนายพันศักดิ์  พัวพันธ์         น.บ.ท.64        084-333 6995

จึงช่วยกันเรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน

ทนายสมปราถน์  ฮั่นเจริญ    081-9024557    เห็นว่า  ต้องดู มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534

มาตรา 8  ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้นสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

 

ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  เห็นว่า  อาจารย์ สุจิต  ปัญญาพฤกษ์ เขียนไว้ในหนังสือคดียาเสพติด แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ถึงเรื่องนี้ อย่างน่าจะสมบูรณ์แล้วในหน้า 131-133 ดังนี้

ประเด็นสำคัญ

          ต้องมีการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ต้องมีการกระทำการ อันเป็นการแสดงออกให้เห็นว่ามีการตกลงกันทำผิดจริง  (Over Act) ซึ่ง อาจจะเป็นการกระทำผิดที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ก็ได้ เช่น การนัดพบ มีการพูดคุยกัน การโทรศัพท์หากัน เป็นต้น และการกระทำที่แสดงออกนี้ ไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของความผิด

การพิจารณาว่า มีการตกลงกันกระทำผิดหรือไม่ เป็นเรื่องของพยานหลักฐาน

โจทก์ต้องนำสืบให้ศาลเห็นความเชื่อมโยงหรือความเกี่ยวกันของการสมคบกัน และแม้ผู้ร่วมกระทำผิด ไม่รู้จักกันทั้งหมด เมื่อรู้ถึงการกระทำของคนอื่น หรือการกระทำของคนที่ร่วมกระบวนการมีการกระทำต่างกรรม ต่างวาระกัน แต่หากมีผลประโยชน์ร่วมกันในผลของงาน ก็ถือว่า มีการตกลงกันแล้ว

          พยานหลักฐานที่จะแสดงว่ามีการตกลง สมคบกัน

โดยลักษณะการกระทำมักเป็นพยานแวดล้อมกรณี ที่บ่งชี้ว่า การกระทำที่แสดงออกมา เป็นการตกลงสมคบคิดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั่นเอง จึงมิใช่พยานหลักฐานในลักษณะเดียวกันกับคดียาเสพติดทั่วไป

          พยานหลักฐานที่จะแสดงว่ามีการตกลง สมคบกัน

- หลักฐานแสดงความสัมพันธ์กันทางการเงิน

- หลักฐานแสดงการติดต่อ เข้าพัก

- รายงานการสืบสวนพฤติการณ์ของผู้กระทำผิดหรือหนังสือร้องเรียนหรือประวัติ

- เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

- คำซัดทอดของผู้กระทำผิด

- แผนผังแสดงบทบาทหน้าที่ และความสัมพันธ์ที่มีการติดต่อเชื่อมโยงกัน

- ภาพถ่ายการสืบสวน หรือการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ เป็นต้น

          ผล

- กรณีได้มีการกระทำผิด เนื่องจาก ที่ได้มีการสมคบกันตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น มาตรา 8 วรรคสอง

- กรณีของกลางเป็นจำนวนเดียวกับความผิดฐานอื่น เช่น ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือฐานร่วมกันพยายามจำหน่าย ความผิดฐานสมคบกันนี้ ย่อมเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท (ฏีกาที่ 5487/2548)

แนววินิจฉัยของศาลฎีกา

          ฎีกาที่ 5487/2548  ความผิดฐานสมคบเป็นตัวการร่วมกับพวกจำหน่ายเฮโรอีนนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไปให้แก่ อ. โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ อ. ส่งมอบเฮโรอีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยทั้งสองกับ อ. ต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนของกลางระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง ซึ่งไม่ถือว่า เป็นการจำหน่าย จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งเฮโรอีนของกลาง แสดงว่า มีเจตนาร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนเดียวกับที่ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นอีกฐานหนึ่งด้วย

          แต่ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

          ฎีกาที่ 2564/2543  จำเลยที่ 2 มากับจำเลยที่ 1 ในครั้งแรกแต่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจากับสายลับแต่อย่างใดมีแต่ในระยะหลังที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมเจรจาพร้อมกับจำเลยที่ 1 และสายลับในตอนที่พวกของจำเลยที่ 1 นำเฮโรอีนจากผู้เก็บรักษามาไม่ได้ โดยผู้เก็บรักษาต้องการเงินก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะไปช่วยเจรจากับสายลับจนสายลับตกลงที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้เก็บรักษา แลกกับเฮโรอีนจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็จะนำเฮโรอีนส่วนที่เหลือมามอบให้พร้อมกับให้สายลับนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 2 สมคบโดยเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีน คงฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายเฮโรอีนแก่สายลับ และเมื่อมีการกระทำความผิดฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนตามที่สมคบกัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับโทษฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนด้วย ตาม พ.ร.บ. มาตรการฯ มาตรา 8 วรรคสอง

               ฎีกาที่ 1112/2543  การจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจะต้องมีผู้ขายฝ่ายหนึ่งกับผู้ซื้ออีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายมีเจตนาคนละอย่างกัน ผู้ขายมีเจตนาที่จะขายผู้ซื้อมีเจตนาที่จะซื้อ เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันที่จะขายและจะซื้อยาเสพติดให้โทษต่อกัน ก็ถือว่าได้สมคบโดยการตกลงร่วมคบคิดกันที่จะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องมีเจตนาเดียวกันหรือเจตนาร่วมกันไม่

 

น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  เห็นว่า  ฎีกาเต็ม  5487/2548  น่าสนใจจึงนำมาลงไว้เพี่อระลึกถึงภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน12พฤศจิกายน2558 ครับ

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5487/2548

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด

     โจทก์

นายวิศิษฎ์หรือแมว ศิลป์จรัสศรี กับพวก

     จำเลย

 

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 5(1) วรรคหนึ่ง, 8 วรรคสอง

ป.อ. มาตรา 80, 83, 90

 

          จำเลยทั้งสองสมคบกันเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทั้งเฮโรอีนของกลางมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ถึง 6,000 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยเด็ดขาดที่ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกด้วย ส่วนความผิดฐานสมคบเป็นตัวการร่วมกับพวกจำหน่ายเฮโรอีนนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไปให้แก่ อ. โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ อ. ส่งมอบเฮโรอีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยทั้งสองกับ อ. ต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนของกลางระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งเฮโรอีนของกลางไปยังบริษัทบริษัทหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้แก่ อ. เพื่อจะจัดส่งให้แก่ลูกค้าต่อไปนั้น แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีน และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนเดียวกับที่ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นอีกฐานหนึ่งด้วย แต่ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

_______________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 5, 8, 14 ป.อ. มาตรา 83, 91

          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 5 (1) วรรคหนึ่ง, 8 วรรคสอง ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง คำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) (2) ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 30 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานสมคบกันเป็นตัวการร่วมกับพวกมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทั้งเฮโรอีนของกลางมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ถึง 6,000 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม ยังต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยเด็ดขาดที่ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกด้วย ส่วนความผิดฐานสมคบเป็นตัวการร่วมกับพวกจำหน่ายเฮโรอีนนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกส่งเฮโรอีนของกลางไปให้นายอภิชัยโดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้นายอภิชัยส่งมอบแก่ลูกค้าผู้ซื้อต่อไป ดังนั้น ระหว่างจำเลยทั้งสองกับนายอภิชัยต้องถือว่าเป็นการส่งมอบเฮโรอีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน แต่การที่จำเลยทั้งสองส่งเฮโรอีนไปยังบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล สปอร์ต จำกัด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้นายอภิชัยเพื่อจะจัดส่งให้แก่ลูกค้าต่อไปนั้น แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจำหน่ายเฮโรอีนและการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการส่งมอบเฮโรอีนใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนเดียวกับที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นอีกฐานหนึ่งด้วย

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 80, 83 พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 5 (1) วรรคหนึ่ง, 8 วรรคสอง ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเฮโรอีน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) (2) ให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 30 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

 

( สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - พิชิต คำแฝง - นันทชัย เพียรสนอง )

 

ศาลอาญากรุงเทพใต้ - นายสมชัย ฑีฆาอุตมากร

ศาลอุทธรณ์ - นายเฉลิมชัย จารุไพบูลย์

 

-PS ThaiLaw.com  นำเนื้อหามาจากหนังสือ  คดียาเสพติด ของอาจารย์ สุจิต  ปัญญาพฤกษ์ 

- หากท่านมีปัญหา เกี่ยวกับคดีต้องการปรึกษาทนายความ    กรุณาติดต่อน้าสิด     ที่เบอร์ 091-871 3937    หรือ   E-mail: Pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ 

30-10-58  ข่าว จ่องัด ม.44 “ปลดล็อคลงทุน” / ม.44 เร่งลงทุน