เรื่องที่ 11 ริบทรัพย์ และขอคืนทรัพย์สิน ป.อาญา 32 , 33 , 34 , 36

     

12-8-58  วันนี้วันแม่แห่งชาติ ข่าวที่ประชุม ยธ.มติถอนยศแม้ว / จีนลดหยวนเปิดศึก “ค่าเงิน”

วันนี้  PS ThaiLaw.com  ได้รับคำถามนี้ทาง E-mail : Pongrut.ku40@gmail.com

  • น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64  086-377 9678
  • พี่น้อย  ทนายปราธูป ศรีกลับ  น.บ.ท.64  085-146 3778
  • พี่ชายน้อย  ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย  น.บ.ท.59  061-576 8275
  • พี่เอก  ทนายขัตติยะ นวลอนงค์  น.บ.ท.62  096-815 2471
  • พี่ป้อม ทนายพันศักดิ์ พัวพันธ์  น.บ.ท.64  084-333 6995

จึงช่วยกันเรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชนครับ

 

ทนายสมปราถน์  ฮั่นเจริญ  081-9024557  เห็นว่า เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 , 33 , 34 ,36

มาตรา 32  ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 

มาตรา 33  ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว  ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ

(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ

(2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด

เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

 

มาตรา 34  บรรดาทรัพย์สิน

(1) ซึ่งได้ให้ตามความในมาตรา 143 มาตรา 144 มาตรา 149หรือมาตรา 150 มาตรา 167 มาตรา 201 หรือมาตรา 202 หรือ

(2) ซึ่งได้ให้เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทำความผิด

ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

 

มาตรา 36 ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานแต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้น จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด

 

ทนายปิยะวัน  มีสุข   081-7356149  เห็นว่า

1.มาตรา 32 และ 34 ใช้คำว่าให้ริบเสียทั้งสิ้น เป็นบทบังคับศาลจะต้องริบเสมอ

2.แต่มาตรา 33 ใช้คำว่า ให้ศาลมีอานาจสั่งริบ “แสดงว่าเป็นดุลพินิจศาลจะสั่งริบหรือไม่ก็ได้

 

ทนายโกวิทย์  แสงสากล   082-4560857  เห็นว่า โทษริบทรัพย์ แยกได้เป็น 2 กรณี

1.โทษริบเด็ดขาด ตามาตรา 32 , 34

1.1การริบตาม มาตรา 32 ศาลต้องริบเสมอไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใด

1.2ส่วนการริบทรัพย์ตาม มาตรา 34 มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ศาลริบไม่ได้

2.โทษริบทรัพย์สินโดยดุลพินิจศาล มาตรา 33

ฎีกา 1552/2546 แผ่นซีดีภาพยนตร์ลามก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ให้ริบตาม ป.อ. 33(1)

กรณีอาวุธปืน  ต้องพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า เป็นปืนมีทะเบียนจริงหรือไม่

1.ถ้าไม่มีทะเบียน ถือว่าศาลต้องริบเสมอ เพราะเป็นทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด แม้ศาลจะยกฟ้องเจ้าของปืน ด้วยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าการกระทำไม่เป็นความผิดก็ตาม ฎีกา 111/2504 (ประชุมใหญ่)

2.ถ้าเป็นปืนมีทะเบียน เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืน จากนายทะเบียนไม่ถือว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ทำ หรือมีไว้เป็นความผิดตามมาตรา 32 , 33

ฎีกา 991/2550

อาวุธปืนพกออโตเมติกของกลาง ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตให้มีและใช้นั้นเป็นของบิดาจำเลยโดยถูกต้อง ความผิดของจำเลยอยู่ที่การมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดเฉพาะตัว อาวุธปืนของกลางดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบ ทั้งไม่ปรากฎว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33

3.ถึงแม้เป็นปืนมีทะเบียนก็ตาม ศาลก็อาจสั่งริบได้ถ้าเข้ากรณีตามมาตรา 33 หรือ 34 คือ เป็นอาวุธปืนที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิด หรือริบตาม มาตรา 371

ฎีกา 3674/2535

อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางเป็นปืนมีทะเบียนซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้ใช้ทำผิดฐานชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือฆ่าผู้อื่น และการที่จำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวได้พาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะ และยิงปืนในหมู่บ้านหรือชุมนุมชนไม่อาจทำให้อาวุธปืนของกลางที่มีใบอนุญาตแล้วกลายเป็นอาวุธปืนที่มีไว้ผิดกฎหมายไปด้วยก็ตาม แต่ก็คงเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดหรือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งอยู่ในดุลพินิจหรืออำนาจของศาลที่จะสั่งริบหรือไม่แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆไป ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

 

ทนายหนูเพียร  สามนต์  090-2361509  เห็นว่า  ตามมาตรา 33 ในการพิจารณาของศาลในการสั่งริบทรัพย์ที่ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามมาตรา 34 เป็นดุลพินิจศาล จะสั่งริบหรือไม่ก็ได้

1.การริบเป็นโทษอาญา ตาม ป.อ. 18(5) จึงต้องมีการฟ้องว่าจำเลยกระทำผิด และพิสูจน์ความผิดจำเลยต่อศาลก่อน

2.แต่รถยนต์ที่คนร้ายใช้เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อหลบหนี ไม่เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จึงริบไม่ได้ ฎีกา 767/2550 , 1436/2551

ฎีกา 767/2550

การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง คือทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกลักทรัพย์โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานจึงฟังได้ว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ของผู้เสียหาย หรือพาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยลักได้มานั้นไป หรือเพื่อให้จำเลยพ้นจากการจับกุมเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรงที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

 

ฎีกา 1436/2551

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักสายไฟฟ้าโดยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ซึ่งมีข้อความว่า ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 335 โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่ แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพตามฟ้องกรณีก็หาได้ฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้

3.หากไม่ใช้รถยนต์ของกลางเพื่อเป็นพาหนะเท่านั้น แต่ยังใช้ในการกระทำผิดด้วย ศาลริบได้ ฎีกา 5845/2531

-ในการปล้นทรัพย์ จำเลยใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะคุ้มกันช่วยเหลือ และใช้นำตัวผู้เสียหายไปทำร้ายในขณะทำการปล้นด้วย ดังนั้นรถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด

-ฎีกา 2091/2530

จำเลยร่วมกับ ม.วางแผนฆ่าผู้เสียหายโดยใช้รถยนต์กระบะไปดักรอผู้เสียหายที่สถานีบริการน้ำมันและขับรถดังกล่าวตามรถผู้เสียหายไป แล้ว ม. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายขณะรถยนต์กระบะกำลังแซงรถของผู้เสียหายขึ้นไป ดังนี้รถยนต์กระบะดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33

          เมื่อศาลปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 288 อีก.

 

 

ทนายหนุ่ม  ชิษณุชา  พวงสุดา 081-4248419  เห็นว่า

1.ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถือว่ารถยนต์ที่ผู้กระทำผิดซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ไม่เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว

 

ฎีกา 2584/2549

 

คดีที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น จำเลยทั้งสองซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4,000 เม็ด ไว้ใต้เบาะที่นั่งในรถยนต์ของกลาง และเก็บเมทแอมเฟตามีนจำนวน 296,000 เม็ด กับเฮโรอีนจำนวน 10 แท่ง ของกลางในกระเป๋าที่กระโปรงหลังรถยนต์ของกลางเท่านั้น จำเลยทั้งสองหาได้ดัดแปลงสภาพรถยนต์ของกลางทั้งสองคันเพื่อจะซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษแต่อย่างใดไม่ รถยนต์ของกลางทั้งสองคันจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยตรงอันจะพึงริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33

1.1แต่หากมีการดัดแปลงรถยนต์เพื่อซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษขณะขนย้าย เป็นการใช้ทรัพย์ในการกระทำผิดโดยตรง ศาลริบได้

ฎีกา 4142/2546

จำเลยทั้งสองร่วมกันนำรถยนต์ของกลางมีเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในฝากระบะท้ายรถ แล่นไปตามถนนสาธารณะ ฝากระบะท้ายรถที่นำเมทแอมเฟตามีนเข้าไปซุกซ่อนไว้นี้เป็นฝาปิดทางด้านในที่ทำเสริมขึ้นมา โดยเสริมที่ฝาท้ายส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการจงใจทำขึ้นเพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เมื่อจำเลยทั้งสองนำรถยนต์ของกลางมาใช้ลำเลียงเมทแอมเฟตามีน จึงต้องถือว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบได้

 

ทนายฉัตรกมล  ภมร  085-0375401  เห็นว่า

1.ถ้าเป็นความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ  เป็นความผิดที่เปลี่ยนการยึดถือยาเสพติดให้โทษจากบุคคลหนึ่ง ดังนั้น การที่ผู้กระทำความผิดใช้รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์นำยาเสพติดให้โทษใช้จำหน่าย รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด

ฎีกา 7326/2547

จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นพาหนะนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายแก่สายลับ รถจักรยานยนต์ดังกล่าวจึงเป็นยานพาหนะซึ่งใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษโดยตรง ต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 ส่วนกระดาษตะกั่ว ถุงพลาสติก และกรรไกรของกลางค้นได้ในบ้านของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำความผิดจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

1.1แต่ถ้าไม่ได้นำยาเสพติดมากับรถยนต์ด้วย รถยนต์ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่สามารถริบได้ ฎีกา 3529/2549

2.เงินที่ผู้กระทำความผิด ทอนให้สายลับที่ล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ฎีกา 4064/2546

 

ทนายขัตติยะ  นวลอนงค์  เห็นว่า  กรณีเงินของกลางคดียาเสพติด

1.ต้องเป็นเงินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น และโจทก์ต้องมีคำขอท้ายฟ้องด้วย

2.ไม่รวม เงินที่ได้จากการกระทำผิดครั้งก่อน

 

ทนายสาวิตรี  จิตซื่อ  เห็นว่า

1.ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบตกเป็นของแผ่นดิน ป.อาญา มาตรา 35

2.ทรัพย์สินที่ศาลจะสั่งริบไว้ ต้องมีตัวตนอยู่เพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ถ้าทรัพย์นั้นสูญหายไปแล้ว ศาลจะสั่งริบไม่ได้ ฎีกา 1587/2505

ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  การขอคืนของกลาง ตาม ป.อาญา มาตรา 36 เป็นดังนี้

1.กรณีที่ศาลสั่งริบทรัพย์ตาม มาตรา 33 หรือ 34 ไปแล้วหากปรากฏภายหลัง โดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบ แต่เจ้าของที่แท้จริง ต้องขอต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด

2.การขอคืนของกลางตามมาตร 36 ต้องเป็นกรณีที่ได้ฟ้องคดีต่อศาล และศาลเป็นผู้สั่งริบของกลางเท่านั้น หากมีการริบโดยไม่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาล จะมาร้องขอให้ศาลสั่งคืนของกลางตามมาตรานี้ไม่ได้

ฎีกา 3242/2531

การที่เจ้าของแท้จริงจะร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 โดยอ้างว่าตนเองมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วเท่านั้นเมื่อมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ร้องจึงจะมาร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องไม่ได้.

3.หรือกรณี เจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางไว้ ผู้ร้องจะขอให้ศาลสั่งคืนให้แก่ผู้ร้องไม่ได้เช่นกัน ฎีกา 897/2536

4.ขอเน้นว่า มาตรานี้ ต้องเป็นกรณีศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอคืนด้วย

 

ทนายปราธูป  ศรีกลับ  เห็นว่า

1.ผู้ที่จะร้องขอคืนของกลาง ตาม ป.อาญา 36 ต้องเป็นบุคคลภายนอก  จำเลยจะมาขอตามมาตรานี้ไม่ได้ เพราะจำเลยสิทธิอุทธรณ์ หรือ ฎีกาคำพิพากษาให้รับของกลางได้อยู่แล้ว

2.ผู้ขอต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริง ที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ในการกระทำความผิด

3.ทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ก่อนชำระราคาครบถ้วน กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ ผู้ให้เช่าซื้อเป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นผู้มีสิทธิร้องขอคืนของกลาง ไม่ใช่ผู้เช่าซื้อ ฎีกา 669/2536

4.ถ้าผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ผู้เช่าซื้อย่อมเป็นเจ้าของที่แท้จริง แม้ยังไม่มีการโอนทางทะเบียนก็ตาม ผู้ให้เช่าซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง 2781/2548 , 1283/2530

5.แม้ขณะยื่นคำร้อง ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของ แต่ต่อมาระหว่างพิจารณาคดี กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังจำเลยแล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิขอคืนของกลาง ฎีกา 388/2523

 

ทนายอุดมศักดิ์  ศักดิ์ธงชัย  เห็นว่า

1.ผู้รับโอนของกลางโดยสุจริตภายหลังจำเลยกระทำความผิดแล้ว ถือว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริง ร้องขอคืนได้ แต่ต้องขอคืนภายหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบ 

ฎีกา  173/2539

ขณะจำเลยใช้รถยนต์ของกลางกระทำความผิดผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์ของกลางแต่เมื่อผู้ร้องได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบก่อนที่ศาลจะสั่งริบผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางและเมื่อผู้ร้องและผู้ให้เช่าซื้อมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดก็ต้องคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

2.แต่ถ้าผู้ร้องรับโอนมาภายหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบแล้ว ผู้ร้องย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในของกลาง เพราะตกเป็นของแผ่นดินไปแล้วตาม มาตรา 35 ผู้ร้องขอคืนไม่ได้ ฎีกา 665/2531

3.ผมขอย้ำว่า ทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบจะตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์/หรือศาลฎีกา ทรัพย์สินนั้นยังไม่ตกเป็นของแผ่นดินจึงอาจตกเป็นกรรมสิทธิ์ได้ และถือว่าผู้รับโอนเป็นเจ้าของที่แท้จริง มีสิทธิร้องขอคืนของกลางได้ ฎีกา 1819/2456

เจ้าของที่แท้จริงต้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

 ทนายพันศักดิ์  พัวพันธ์  เห็นว่า  มีความหมายดังนี้

1.การเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ย่อมถือว่ารู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด

2.รวมถึงผู้ที่รู้หรือคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า จะมีการนำทรัพย์ของกลางนั้นไปใช้ในการกระทำความผิด โดยไม่จำเป็นต้องมีพฤติการณ์ถึงขนาดเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน

2.1บิดาเจ้าของรถยนต์ ปล่อยปละละเลยให้บุตรนำรถยนต์ของกลางไปใช้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงว่าจะนำไปใช้ในกิจการใด แสดงว่ายินยอมอนุญาตให้บุตรนำรถยนต์ไปใช้ได้ตลอดเวลาตามต้องการ ถือว่าบิดารู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด  ฎีกา 3268/2548

 

ทนายจิราภา  เลิศอริยรังสี  การขอคืนของกลางที่ริบ ศาลมักพิจารณาว่า

เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือไม่ดังนี้

1.การที่เจ้าของที่แท้จริงไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดมาร้องขอคืนของกลาง ศาลอาจไม่คืนของกลางก็ได้ ถ้าปรากฏว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

-ผู้ให้เช่าซึ่งร้องขอคืนของกลาง โดยมีเจตนาเพียงจะได้รับชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเท่านั้นไม่ได้มีเจตนาต้องการคืนทรัพย์ของกลาง เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิขอคืนของกลาง  ฎีกา 5138/2547

2.การขอคืนของกลางต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องเป็นคำพิพากษาในคดีที่ริบทรัพย์ด้วย  ฎีกา 3325/2527

2.1กรณีศาลสั่งริบของกลางในคดีก่อนแล้ว ในคดีหลังไม่มีของกลางให้สั่งริบอีก ดังนั้นแม้คดีหลังศาลจะสั่งริบอีก ผู้ร้องก็ต้องร้องขอคืนของกลางภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีก่อนถึงที่สุด  ฎีกา 2812/2549

3.การยื่นคำร้องขอคืนของกลาง อาจจะทำในระหว่างคดีอยู่ระหว่างพิจารณาก็ได้ ฎีกา 6187/2540 แต่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งในเรื่องขอคืนของกลางได้ ศาลต้องพิจารณาในคดีหลักว่าจะรับของกลางได้หรือไม่เสียก่อน จึงจะมีคำสั่งในเรื่องคืนของกลางได้ จะมีคำสั่งเรื่องขอคืนของกลางก่อนจะมีคำพิพากษาคดีหลักไม่ได้  ฎีกา 5045/2545

 

ทนายเปิ้ล อารดา  ชัยเสนา  081-6625518  เน้นว่า  ในชั้นร้องขอคืนของกลางมีประเด็นเพียงว่าศาลจะสั่งคืนของกลางให้เจ้าของหรือไม่ ไม่มีประเด็นเรื่องศาลมีอำนาจสั่งริบของกลางได้หรือไม่ เพราะประเด็นดังกล่าว ถือว่ายุติไปแล้วในคดีหลัก ผู้ร้องขอคืนของกลางจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในชั้นนี้อีกไม่ได้ ฎีกา 4745/2547

 

น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  ขอตอบคำถาม ดังนี้

คำถามแรก  คำถามจากพยาบาล อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

เป็นกรณีเช่าซื้อรถยนต์ ผ่อนชำระเป็นรายงวด รวม 10 งวด ผู้เช่าซื้อยังผ่อนชำระไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ดังนั้นผู้ให้เช่าซื้อมาร้องขอคืนของกลางได้ ตาม ฎีกา 1578/2522

 

คำถามที่สอง  คำถามจากหมอฟัน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นกรณีบิดาเจ้าของรถยนต์ปล่อยปละละเลยให้บุตรนำรถยนต์ของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงว่าจะนำไปให้ในกิจการใด แสดงว่ายินยอมให้บุตรนำรถยนต์ไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ ถือว่าบิดารู้เห็น ยินยอมด้วยในการกระทำความผิด ฎีกาที่ 3268/2548

 

-PS ThaiLaw.com  ได้นำฎีกาฉบับเต็ม  1578/2522  และ  3268/2548  จากระบบสืบค้นคำพิพากษา มาลงไว้แล้วครับ

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1578/2522

อัยการภูเขียว

     โจทก์

นายไสว งอนชัยภูมิ

     จำเลย

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชัยภูมิ ย่งเซ่งฮวด

     ผู้ร้อง

 

ป.อ. มาตรา 36

 

          ผู้เช่าซื้อรถยนต์ไม่ใช่เจ้าของ จึงร้องขอคืนรถยนต์ที่ศาลริบไม่ได้

 

________________________________

 

          ศาลพิพากษาริบรถยนต์ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ปัญหาว่า ขณะกระทำผิดรถยนต์คันของกลางนี้เป็นของผู้ร้องหรือไม่ ผู้ร้องมีนายชัยรัตน์ ชัยวิวัฒน์ เป็นพยานเบิกความใจความว่า ผู้ร้องเช่าซื้อรถคันของกลางจากบริษัทสหไทยไฟแนนซ์ จำกัด และยังชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบ ซึ่งรถยังเป็นของบริษัทสหไทยไฟแนนซ์ จำกัด อยู่ ต่อมาผู้ร้องนำไปให้นายศิลา พรมกูตตุ้ม เช่าซื้อต่อ และปรากฏว่าในขณะเกิดเหตุ รถยนต์คันนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทสหไทยไฟแนนซ์ จำกัด เพิ่งโอนเป็นของผู้ร้องเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2521 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลสั่งริบไปแล้ว ฉะนั้น ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าซื้อมาโดยวิธีเงินผ่อนจึงฟังไม่ขึ้นคดีฟังได้ว่ารถคันของกลางเป็นของบริษัทสหไทยไฟแนนซ์ จำกัด ขณะจำเลยกระทำผิดผู้ร้องมิใช่เจ้าของจึงไม่มีสิทธิขอคืน"

          พิพากษายืน

 

 

( พิสัณห์ ลีตเวทย์ - ขจร หะวานนท์ - จรัญ สำเร็จประสงค์ )

 

 

 

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3268/2548

พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ

     

แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

     โจทก์

นางสิงหา เรือนคำ

     ผู้ร้อง

นายพิทยาหรือวิทยา เรือนคำ กับพวก

     จำเลย

 

ป.อ. มาตรา 36

 

          ผู้ร้องเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 เคยใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปซื้อของและเคยจับได้ว่าจำเลยที่ 1 แอบเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปขับในเวลากลางคืน ซึ่งไม่ปรากฏผู้ร้องได้ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำดังกล่าวขึ้นอีกแต่อย่างใด แต่กลับปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 สามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดได้อีก ทั้งที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้ร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่จำเลยที่ 1 ต้องการ โดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยที่ 1 จะนำไปใช้ในกิจการใด การที่จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับแข่งกับพวกบนทางเดินรถสาธารณะในเวลากลางคืน ถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง

 

________________________________

 

          คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองและสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง

          โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

          ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ผู้ร้องเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่าผู้ร้องซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อขับไปทำงานและส่งบุตรไปโรงเรียน จำเลยที่ 1 แอบทำเลียนแบบกุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้แล้วนำรถจักรยานยนต์ไปขับแข่งกันจนถูกจับกุม โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอารถจักรยานยนต์ไป แต่จำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2545 ต่อหน้าผู้ร้องว่า ผู้ร้องซื้อรถจักรยานยนต์ให้จำเลยที่ 1 ขับไปโรงเรียนสหพาณิชย์ ผู้ร้องลงลายมือชื่อรับรองรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องเก็บกุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ที่หัวเตียงและผู้ร้องจำนำกุญแจรถดังกล่าวทั้งสองดอกติดตัวไปทำงานด้วย จำเลยที่ 1 รู้ที่เก็บกุญแจดังกล่าว นางทองพูน เรือนคำ ภรรยาผู้ร้องเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ปกติผู้ร้องจะพกกุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางติดตัวไปด้วยหนึ่งดอก ส่วนอีกดอกหนึ่งจะเก็บไว้ที่ลิ้นชักหัวเตียง จึงแตกต่างกับคำเบิกความของผู้ร้อง ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ผู้ร้องเคยใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปซื้อของและเคยจับได้ว่าจำเลยที่ 1 แอบเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปขับในเวลากลางคืนซึ่งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำดังกล่าวขึ้นอีกแต่อย่างใดแต่กลับปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 สามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดได้อีก ทั้งที่ผู้ร้องเป็นบิดาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์และพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่จำเลยที่ 1 ต้องการ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะนำไปใช้ในกิจการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับแข่งกับพวกประมาณ 100 วัน บนถนนสุขุมวิทอันเป็นทางเดินรถสาธารณะในเวลากลางคืน กรณีถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน

 

 

( สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - วิรัช ลิ้มวิชัย - วสันต์ ตรีสุวรรณ )

 

-PS ThaiLaw  นำเนื้อหามาจากหนังสือ อาญาพิสดาร ฉบับปี 2552 ของอาจารย์วิเชียร  ดิเรกอุดมศักดิ์ ผู้พิพากษา

 

-หากท่านมีปัญหาเกี่ยวกับคดีต้องการปรึกษา กรุณาติดต่อน้าสิด ที่เบอร์ 086-3779678    หรือ   E-mail: Pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ