เรื่องที่ 3 ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด แต่ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าเป็นความผิด ถูกลงโทษอย่างไร?

     

6-7-58 ศาลทหารกรุงเทพให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษากลุ่มเราเพื่อนกัน

วันนี้ PS ThaiLaw.com  ได้รับคำถามนี้ ทาง E-mail : Pongrut.ku40@gmail.com

  • น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท.64  086-377 9678
  • พี่น้อย  ทนายปราธูป ศรีกลับ  น.บ.ท.64   085-146 3778
  • พี่ชายน้อย  ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  น.บ.ท.59   061-576 8275
  • พี่เอก   ทนายขัตติยะ  นวลอนงค์   น.บ.ท.62  096-815 2471
  • พี่ป้อม    ทนายพันศักดิ์  พัวพันธ์   น.บ.ท.64  084-333 6995

จึงช่วยกันเรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชนครับ

- ทนายหนูเพียร  สามนต์  ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องการกระทำความผิดโดยอ้อม

ไม่ใช่เป็นผู้ใช้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84

หลัก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 “ผู้ใช้”

มาตรา ๘๔ ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้ กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษ เพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

 

- พี่ดำ  ทนายสมปราถน์  ฮั่นเจริญ  081-902 4557 บอกว่า การใช้ให้กระทำความผิด ผู้ถูกใช้ต้องกระทำไปโดยเจตนาด้วย ถ้าผู้ถูกใช้ไม่มีเจตนา ก็ไม่ใช่เป็นการใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา 84 นี้

 - พี่น้อย  ทนายปราธูป  ศรีกลับ  บอกว่า ถือว่าเป็นการกระทำความผิดของผู้ใช้เองโดยอ้อม โดยอาศัยผู้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิด  ฎีกาที่ 5318/2549 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5318/2549

พนักงานอัยการจังหวัดตาก

     โจทก์

นายเปลื่อง ทองคำ กับพวก

     จำเลย

 

ป.อ. มาตรา 59, 84

 

          จำเลยจ้างให้บุคคลที่ไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้นำรถไถไปไถที่ดินบริเวณดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการใช้บุคคลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และมาตรา 31 วรรคสอง

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง พื้นที่ดินซึ่งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 26 ไร่ โดยใช้รถไถ 3 คัน ไถปรับที่ดินดังกล่าวอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมิได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะกระทำการได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

          จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 4 ปี

          จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า นายยืน ชีวัฒน์ เป็นเจ้าของรถไถนา 2 คัน มีนายทวี อยู่แย้ม และนายชลอ ขจร เป็นลูกจ้างเป็นคนขับ นายสวรรค์ ชื่อสุวรรณ์ เป็นเจ้าของรถไถนา 1 คัน มีนายประสิทธิ์ สีขาว เป็นลูกจ้าง เป็นคนขับ ตามวันเวลาที่ระบุในฟ้องนายยืนและนายสวรรค์ใช้ให้นายทวี นายชลอ และนายประสิทธิ์นำรถไถนาทั้งสามคันไปไถที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เสาปูนและเสาไม้ที่ปักไว้ล้มลงอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าเป็นอาณาบริเวณ 26 ไร่ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่...พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้ว่าจ้างให้นายยืนและนายสวรรค์นำรถไถไปไถที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุและเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของนายทวี นายชลอ นายประสิทธิ์ ที่ขับรถไถไถที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าทั้งนายยืนและนายสวรรค์รวมทั้งนายทวี นายชลอและนายประสิทธิ์ ต่างไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยทั้งสามใช้จ้างวานให้บุคคลดังกล่าวนำรถไถไปไถที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุนั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะบุคคลเหล่านั้นซึ่งเป็นผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยทั้งสามใช้บุคคลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของจำเลยทั้งสามในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

          พิพากษากลับ จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี.

 

 

( สุมิตร สุภาดุลย์ - นันทชัย เพียรสนอง - พีรพล พิชยวัฒน์ )

 

 

- พี่ป้อม  ทนายพันศักดิ์  พัวพันธ์  แนะนำว่า ในฎีกาที่ 2030/2537  จำเลยใช้ให้เด็กหญิง ป. ไปรับยาเสพติดเฮโรอีน โดยเด็กหญิง ป. ไม่ทราบข้อเท็จจริง ดังนั้นการที่เด็กหญิง ป. ครอบครองยาเสพติดให้โทษเฮโรอีน ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษเอง

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2030/2537

พนักงานอัยการ สำนักงาน อัยการ สูงสุด

     โจทก์

นาง แต๋วหรือลักขณา แหวน ทองคำ

     จำเลย

 

ป.อ. มาตรา 59

 

           จำเลยใช้ให้เด็กหญิงป.ไปรับยาเสพติดให้โทษเฮโรอีน โดยเด็กหญิงป.ไม่ทราบข้อเท็จจริง การที่เด็กหญิงป. ครอบครองยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนเอง

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4, 7, 8, 18, 66, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน 2522ข้อ 1(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบเฮโรอีนของกลาง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคแรก, 66 วรรคแรก จำคุก 20 ปีของกลางริบ

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายบรรเลง ธัญถาวร และเด็กหญิงปวีณา อ่อนน้อม พร้อมยาเสพติดให้โทษเฮโรอีน จำนวน 20 หลอด หนัก 18.76 กรัมเป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่... พฤติการณ์ของจำเลยที่โจทก์นำสืบมาว่า จำเลยใช้ให้เด็กหญิงปวีณาไปรับยาเสพติดให้โทษเฮโรอีน โดยเด็กหญิงปวีณาไม่ทราบข้อเท็จจริง การที่เด็กหญิงปวีณาครอบครองยาเสพติดให้โทษเฮโรอีน ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนนั่นเอง จึงฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นหนักเกินไปศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

 

( สมาน เวทวินิจ - จิระ บุญพจนสุนทร - สมิทธิ วราอุบล )

 

-พี่วัน  ทนายปิยะวัน  มีสุข  เปิดหนังสือ  Juris แล้วให้ความเห็นว่า เด็กหญิง ป. ไม่ทราบว่ามีเฮโรอีน จึงไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของเด็กหญิง ป. ไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด แต่ถือได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง โดยอาศัยเด็กหญิง ป. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด

-พี่บอย  ทนายโกวิทย์  แสงสากล  ให้ความเห็นจากขอนแก่นว่า การวางแผนให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยผู้นั้นไม่ได้คิดกระทำผิดอยู่ก่อน เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดมีความผิดฐานผู้ใช้ ฎีกาที่ 3105/2541

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3105/2541

พนักงานอัยการ จังหวัด พังงา

     โจทก์

นาย สม พร พิทักษ์วงค์ กับพวก

     จำเลย

 

ป.อ. มาตรา 83, 84, 340, 340 ตรี

ป.วิ.อ. มาตรา 192

 

          จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกอีก 2 คน กระทำความผิดฐานพยายาม ปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 และ ส.กับพวกเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 1 ไปรออยู่ที่ร้านอาหาร และย้อนกลับมาดูจำเลยที่ 2 กับพวก เมื่อทราบว่าจำเลยที่ 2 กับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จและจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสกัดจับโดยพวกของจำเลยที่ 2 หลบหนีไปได้การที่จำเลยที่ 3 อยู่กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุ และจำเลยที่ 3เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ แม้จำเลยที่ 3จะไม่ได้ร่วมลงมือกระทำการปล้นทรัพย์กับจำเลยที่ 2 และพวกอีก 2 คนก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวคิดจะไปปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่ก่อนแล้ว กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกันปล้นทรัพย์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และพวกอีก 2 คนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการผู้ร่วมกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ลงจากรถยนต์กระบะไปทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 86 และลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ไม่เกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้ในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที 2 หรือจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวไว้ในครอบครองและพาติดตัวมาใช้ในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ และไม่ปรากฏว่าคนร้ายคนใดเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิง ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การปฏิเสธในข้อหามีและพาอาวุธปืนตลอดมา จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 เพียงแต่ขับรถยนต์กระบะไปส่งจำเลยที่ 2กับพวกอีก 2 คน ไปทำการปล้นทรัพย์บ้านผู้เสียหายและกลับไปพบจำเลยที่ 2 กับพวก ภายหลังจากที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จและรับจำเลยที่ 2 กับพวกขึ้นรถแล้วมาถูกจับเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกใช้รถยนต์ดังกล่าวเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และเมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนดังกล่าว และไม่อาจทราบได้ว่าผู้ที่ร่วมลงมือปล้นทรัพย์ครั้งนี้ผู้ใดเป็นผู้มีและใช้อาวุธปืน และยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิดฐาน พยายามปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ประกอบมาตรา 80 และ 86 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวกรณีไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะและลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวได้ และจะปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรีด้วยมิได้

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 289, 340, 340 ตรี และ 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72 และ 72 ทวิ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22 และ 23 ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง กับริบวิทยุคมนาพร้อมอุปกรณ์ของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1692/2538 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี

          จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

          ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่, 340 ตรี และ 371 ประกอบมาตรา 80 และ 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสองจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่,340 ตรี และ 371 ประกอบมาตรา 80 และ 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง และ72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6และ 23 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงและใช้ยานพาหนะจำคุกคนละ 20 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 2 ปี ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 24 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 25 ปีลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 2 คนละ 16 ปี ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางกับริบวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์เพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1692/2538 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีคำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

          จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องมีคนร้ายจำนวน 3 คน เข้าไปในบ้านนายวิสุทธิ์ บุญเสริม ผู้เสียหายและได้ใช้อาวุธปืนยิงผ่านใต้โต๊ะ กระสุนปืนถูกร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บ ในวันเกิดเหตุหลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-4507 นครศรีธรรมราช และยึดวิทยุมือถือได้จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งจำเลยที่ 3 พกติดตัวเป็นของกลาง

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายซึ่งพยายามปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนแล้วฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกอีก 2 คน กระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง สำหรับจำเลยที่ 3 แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความว่ารู้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นทรัพย์ครั้งนี้อย่างไรก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 ก็เบิกความรับว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ไปนั่งรับประทานอาหารกับจำเลยที่ 1 ที่ร้านอาหารชื่อสายธารตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา โดยจำเลยที่ 3ชวนจำเลยที่ 2 กับชายอีกคนหนึ่งไปนั่งรับประทานอาหารด้วย แต่จำเลยที่ 2 กับชายอีกคนหนึ่งไม่ยอมลงจากรถยนต์กระบะสีน้ำเงินที่จำเลยที่ 1 ขับ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันที่10 เมษายน 2536 ทั้งหมดนั่งรถมาด้วยกันมุ่งหน้าไปทางจังหวัดพังงาและมาถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ระหว่างทางพร้อมกัน ซึ่งก็เจือสมคำเบิกความของสิบตำรวจตรีสายชล กอประเสริฐสุดพยานโจทก์ซึ่งเบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2536 เวลา 1 นาฬิกาเศษหลังจากได้รับแจ้งเหตุทางวิทยุว่ามีคนร้าย 4 ถึง 5 คน เข้าปล้นบ้านผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ป้อมยามสามแยกนบปริงสิบตำรวจตรีนรากร แสวงกิจ และพลตำรวจพูลศักดิ์ มณเฑียรได้เดินทางไปดูที่เกิดเหตุ ส่วนสิบตำรวจตรีสายชลประจำอยู่ที่ป้อมยามและได้รับแจ้งว่าคนร้ายที่ปล้นทรัพย์จะขับรถผ่านมาทางป้อมยามเป็นรถยนต์กระบะบิกเอ็มสีน้ำเงิน หลังจากนั้นประมาณ7 ถึง 8 นาที มีรถยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านมามีลักษณะตรงกับที่ได้รับแจ้ง มีชายนั่งมาในรถ 4 คน สิบตำรวจตรีสายชลเรียกให้หยุดเพื่อตรวจค้น สิบตำรวจตรีสายชลรู้จักชายที่นั่งมาในรถคนหนึ่งคือจำเลยที่ 3 ซึ่งก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวสิบตำรวจตรีนรากรเบิกความว่าเมื่อได้รับแจ้งเหตุทางวิทยุ พลตำรวจพูลศักดิ์ขับรถจักรยานยนต์โดยพยานนั่งซ้อนท้ายจากป้อมยามสามแยกนบปริงไปยังที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ห่างจากป้อมยามประมาณ 7 กิโลเมตรก่อนจะถึงบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร ได้สวนทางกับรถยนต์กระบะสีน้ำเงินป้ายทะเบียนนครศรีธรรมราช มีชาย 3 ถึง4 คนนั่งมาในรถยนต์กระบะคันนั้น โดยแล่นมาจากบ้านที่เกิดเหตุมุ่งหน้าไปทางสามแยกนบปริง พยานจึงวิทยุแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจที่ป้อมยามให้สกัดจับ เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.25 และจ.26 คำให้การดังกล่าวมีความยาวถึง 8 หนาประกอบด้วยรายละเอียดข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดครั้งนี้อย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มวางแผนปล้นทรัพย์ ขณะปล้นทรัพย์และภายหลังการปล้นทรัพย์สถานที่วางแผน และสถานที่นัดพบ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การไว้เช่นนั้นแล้วก็ยากที่พนักงานสอบสวนจะล่วงรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้อย่างต่อเนื่องละเอียดละออเช่นนั้น จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง คำให้การดังกล่าวได้ระบุถึงจำเลยที่ 3 ว่าเป็นผู้วางแผนการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 นายสายันต์ไม่ทราบนามสกุล และตำรวจตระเวนชายแดนชื่อหัวแดงเข้าไปปล้นทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย และจำเลยที่ 3กับจำเลยที่ 1 ไปส่งบุคคลทั้งสามดังกล่าวลงจากรถยนต์กระบะสีน้ำเงินไปทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 1 ไปรอที่ร้านอาหารสายธารและย้อนกลับมาดูบุคคลทั้งสาม พบจำเลยที่ 2 และตำรวจตระเวนชายแดนชื่อหัวแดงจึงทราบว่าปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จ และมาถูกเจ้าพนักงานตำรวจสกัดจับโดยตำรวจตระเวนชายแดนชื่อหัวแดงหลบหนีไปได้ แม้คำให้การดังกล่าวจะเป็นคำให้การของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นความจริงเพราะมีรายละเอียดว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้มีส่วนในการกระทำความผิดครั้งนี้อย่างไร และบางตอนก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นพิจารณา ดังนั้น แม้จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดครั้งนี้อย่างไรและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักน้อยก็ตาม แต่โจทก์ก็มีพยานหลักฐานอื่นประกอบให้เห็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความจริง โดยโจทก์มีสิบตำรวจตรีนรากรและสิบตำรวจตรีสายชลพยานโจทก์ยืนยันว่าได้พบเห็นจำเลยที่ 3 อยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ดังกล่าวฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ไปส่งจำเลยที่ 2นายสายันต์และตำรวจตระเวนชายแดนชื่อหัวแดงลงจากรถยนต์กระบะสีน้ำเงินไปทำการปล้นทรัพย์ในบ้านผู้เสียหายแต่ไม่สำเร็จจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าก่อนถูกจับกุมจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอซื้อสวนของจำเลยที่ 3 ที่อำเภอคุระบุรีจังหวัดพังงา และจำเลยที่ 3 มีหลักฐานที่ดินเป็นใบ ภ.บ.ท. ชื่อนายสน ภูมิสารซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้อ้างหลักฐานดังกล่าวในการพิจารณาของศาลชั้นต้นเพราะความหลงลืมของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้แนบหลักฐานดังกล่าวมาท้ายอุทธรณ์นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามจำเลยที่ 3 ฎีกาดังกล่าวก็ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวได้ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ร่วมลงมือกระทำการปล้นทรัพย์กับจำเลยและพวกอีก 2 คนดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ไปลงมือกระทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวคิดจะไปปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่ก่อนแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อหรือผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และพวกอีก 2 คน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการผู้ร่วมกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองอย่างไรก็ดี การที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้วางแผนในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกอีก2 คน ลงจากรถยนต์กระบะไปทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 86 และลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ไม่เกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงไปกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และพวกอีก 2 คนดังกล่าว โดยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะในคืนเกิดเหตุ และส่งจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คนลงไปทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายแล้วไปนั่งรับประทานอาหารกับจำเลยที่ 3 ที่ร้านอาหารสายธาร มิได้ร่วมลงมือกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนโดยให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ดังกล่าว และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีจึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3กระทำความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยหรือไม่ ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับนายวิสุทธิ์ บุญเสริม ผู้เสียหายด้วย และปรากฏตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.23ว่าในที่เกิดเหตุมีร่องรอยกระสุนปืนตามฝาผนัง ปลอกกระสุนปืนตกอยู่ที่พื้นและอาวุธปืน 1 กระบอก ตกอยู่นอกบ้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็มิได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวไว้ในครอบครองและพาติดตัวมาใช้ในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ และผู้เสียหายก็มิได้เบิกความยืนยันว่าคนร้ายคนใดเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิง ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การปฏิเสธในข้อหามีและพาอาวุธปืนตลอดมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3กระทำความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นเพียงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะสีน้ำเงินไปส่งจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ให้ลงไปทำการปล้นทรัพย์บ้านผู้เสียหายและกลับไปพบจำเลยที่ 2 และตำรวจตระเวนชายแดนชื่อหัวแดงภายหลังจากที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายไม่สำเร็จและรับทั้งสองคนขึ้นรถแล้วมาถูกจับเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2กับพวกอีก 2 คน ใช้รถยนต์ดังกล่าวเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนดังกล่าว และยังไม่อาจทราบได้ว่าผู้ที่ร่วมลงมือปล้นทรัพย์ครั้งนี้ผู้ใดเป็นผู้มีและใช้อาวุธปืนและยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 80 และ 86 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะและลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาโดยปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรีมาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเหตุนี้เป็นเหตุให้ลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยและที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์นั้นเห็นว่าหนักเกินไป สมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้การกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 86 ลงโทษจำคุก 8 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80 จำคุก 12 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 86 และมีความผิดฐานมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 และ 23 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง จำคุก 8 ปี ฐานมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 9 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

 

 

( สมลักษณ์ จัดกระบวนพล - สมปอง เสนเนียม - ผล อนุวัตรนิติการ )

 

 

-ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  ขอทบทวนเรื่องผู้ใช้ดังนี้  การวางแผนให้ผู้อื่นกระทำผิด โดยผู้นั้นไม่ได้คิดกระทำผิดอยู่ก่อน เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิด มีความผิดฐานผู้ใช้ ฎีกาที่ 3105/2541

-ฝากให้ผู้อื่นจำหน่ายยาบ้า เป็นผู้ใช้นะ ไม่ใช่เป็นตัวการร่วม 2611/2549

 

-น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  ฟันธงว่า คำตอบอยู่ในฎีกาฉบับเต็ม 5318/2549  และ 2030/2537  ซึ่ง  PS ThaiLaw.com ได้นำมาลงไว้แล้วครับ

 

***หากท่านมีปัญหาอยากปรึกษาทนายความ กรุณาติดต่อน้าสิด 086-3779678

E-mail: Pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ