เรื่องที่ 28 การโอนหุ้น ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?

     

22-7-58  ข่าว ชัก 11 มม. ยิงดับเสี่ยโรงแรมดัง / ปีเตอร์ อ้างไม่กลับบ้านติดงาน

PS ThaiLaw.com  ได้รับคำถามนี้ทาง E-mail : Pongrut.ku40@gmail.com  

 

                   น้าสิด            ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์      น.บ.ท.64        086-377 9678

                   พี่น้อย           ทนายปราธูป  ศรีกลับ           น.บ.ท.64        085-146 3778

                   พี่ชายน้อย      ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59        061-576 8275

                   พี่เอก            ทนายขัตติยะ  นวลอนงค์      น.บ.ท.62        096-815 2471

                   พี่ป้อม           ทนายพันศักดิ์  พัวพันธ์         น.บ.ท.64        084-333 6995

จึงได้ร่วมกันเรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน

หลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129

มาตรา ๑๑๒๙ อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของ ผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย การโอนเช่นนี้จะนํามาใช้แก่บริษัท หรือบุคคลภายนอกไม่ได้จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสํานักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

 

ทนายสมปราถน์  ฮั่นเจริญ  081-9024557 แนะนำว่า

1.หุ้นที่ได้ออกให้แก่ผู้ถือนั้น บริษัทจะกำหนดห้ามโอนไม่ได้ ในการโอนหุ้นที่ออกให้แก่ผู้ถือย่อมโอนกันได้เพียงส่งมอบใบหุ้นให้แก่กัน มาตรา 1135 

2.การโอนหุ้นระบุชื่ออาจถูกจำกัดการโอนไว้ในข้อบังคับของบริษัท นอกจากนี้ในการโอนหุ้นนั้น บริษัทมีอำนาจที่จะไม่ยองรับจดทะเบียนโอนหุ้นที่เรียกเก็บค่าหุ้นแล้วบังคับชำระอยู่ มาตรา 1130 

3.บริษัทอาจปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นไว้ระหว่าง 14 วัน ก่อนการประชุมใหญ่สามัญ 1131

 

ทนายปิยะวัน  มีสุข  081-7356149  ขอทบทวนการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ  ตาม ป.พ.พ. 1129 วรรค 2 จะต้องทำตามแบบของนิติกรรมครบทั้ง 3 ประการ คือ

1.ทำเป็นหนังสือ

2.ลงลายมือชื่อทั้งผู้โอนและรับโอน

3.มีพยานรับรองลายมือชื่อผู้โอน และผู้รับโอน ฎีกา 1086/2512

 

ทนายบอย โกวิทย์  แสงสากล  082-4560857  ให้ข้อสังเกต ดังนี้

1. 2970/2522  การโอนหุ้นบริษัท จำกัดชนิดระบุชื่อ ต้องมีพยานลงลายมือชื่อในหนังสือโอนหุ้น มิฉะนั้นเป็นโมฆะ แม้จะทำต่อหน้าพยานรู้เห็นหลายคนก็ตาม

2. การแถลงหมายเลขหุ้น ซึ่งโอนกันเพื่อให้รู้ว่า หุ้นหมายเลขใดได้โอนไป มิใช่ส่วนหนึ่งของแบบนิติกรรม หากไม่ได้แถลง หมายเลขหุ้นที่โอนกัน ก็ไม่ทำให้การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อเป็นโมฆะ หากทำตามแบบนิติกรรม ครบทั้ง 3 ประการ ตาม ป.พ.พ. 1129 วรรค 2

3.หากไม่ได้ทำตามแบบ ยังถือไม่ได้ว่า ผู้รับโอนสิทธิ มีสิทธิในหุ้น ดังนั้นผู้รับโอนสิทธิจึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นได้

4. แต่ไม่ได้ทำให้การซื้อขายหุ้นเป็นโมฆะไปด้วยไม่ ฎีกา 57/2540

 

ทนายปราธูป  ศรีกลับ  089-1463778  เห็นว่า

1.หากการโอนหุ้นไม่ชอบ แต่ผู้รับโอนได้ครอบครองหุ้นดังกล่าว เพื่อตน ตาม ป.พ.พ.1382 แล้ว ครบ 5 ปี แล้ว ผู้รับโอนก็ได้รับสิทธิในหุ้นนั้น โดยการครอบครองปรปักษ์ ฎีกา3395/2529

2.การโอนหุ้นระบุชื่อ แม้ยังไม่มีการออกใบหุ้น ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 1129 วรรค 2 เช่นกัน ฎีกา2450/2551

3.สัญญาชื้อขายหุ้น ไม่ใช่การโอนหุ้น จึงไม่ต้องทำตามแบบ 1129 วรรคสอง

 

ทนายอุดมศักดิ์  ศักดิ์ธงชัย  แนะนำว่า

1.ควรจะมีแบบฟอร์ม หนังสือสัญญาโอนหุ้นบริษัทจำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

2.หลังรับโอนหุ้นแล้ว ควรนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)ด้วย

 

ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  061-5768275  เน้นที่สำคัญดังนี้

การโอนหุ้นตาม 1129 วรรคสอง ไม่รวมถึงการซื้อขายหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

 

ทนายพันศักดิ์  พัวพันธ์  เห็นว่า ป.พ.พ. 1129 วรรค 3

การใช้ยันบุคคลภายนอกและบริษัท

1.การโอนเช่นนี้จะนำมายันบุคคลภายนอกและบริษัทไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

2.ด้วยการที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ใช้ยันบริษัทไม่ได้ เช่นนี้บริษัทจึงสามารถเรียกให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ค้าชำระเงินค่าหุ้นอยู่ ชำระค่าหุ้น

3.บริษัทอาจไม่อนุญาตให้ผู้รับโอน เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นได้

 

ทนายเอก ขัตติยะ  นวลอนงค์  096-8152471  เห็นว่า

1.หากกรรมการบริษัท เป็นพยานรู้เห็นการโอนหุ้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของบริษัท ที่จะต้องจดแจ้งการโอนนั้น ในทะเบียนผู้ถือหุ้น 478/2534 , 2531/2538

2.เจ้าของหุ้นเดิม เมื่อโอนหุ้นไปแล้ว สิทธิต่าง ๆ ในหุ้นนั้น ย่อมโอนไปยังผู้รับโอน ผู้โอนจะเรียกร้องสิทธิในหุ้นนั้น เช่น เรียกเงินปันผล อีกหาได้ไม่

3.หากการโอนหุ้นนั้นใช้ยันบริษัทได้แล้ว บริษัทย่อมไม่อาจเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระค่าหุ้นได้อีก เจ้าหนี้ของบริษัทจึงไม่สามารถอายัดสิทธิเรียกร้องของบริษัทที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระเงินค่าหุ้น ที่ค้างชำระได้เช่นกัน ฎีกา 1590/2503

 

ทนายหนูเพียร  สามนต์  090-2361509  แนะนำว่า

1.ข้อจำกัดในการโอนหุ้น ตาม ป.พ.พ. 1141 คือ “ห้ามมิให้ บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเอง หรือรับจำนำหุ้นของตนเอง บริษัทจำกัดจะรับจำนำหุ้นของตนเองไม่ได้ เพราะจะทำให้ทุนของบริษัทลดลง”

2.นอกจากการโอนหุ้น ตาม ป.พ.พ. 1129 แล้ว ยังมีการโอนหุ้นในเหตุบางอย่างตาม ป.พ.พ.1132

มาตรา ๑๑๓๒ ในเหตุบางอย่างเช่นผู้ถือหุ้นตายก็ดีหรือล้มละลายก็ดีอันเป็นเหตุ ให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นขึ้นนั้น หากว่าบุคคลนั้นนําใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทําได้ทั้ง ได้นําหลักฐานอันสมควรมาแสดงด้วยแล้ว ก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป

3.สิทธิของทายาทผู้ถือหุ้นที่ตาย ในการที่จะใช้สิทธิในฐานะผู้รับมรดกเกิดขึ้นตั้งแต่เจ้ามรดกตาย

 

ทนายฉัตรกมล  ภมร  085-0375401  เห็นว่า  ความรับผิดของผู้โอนหุ้น ตาม ป.พ.พ. 1133 คือ

มาตรา ๑๑๓๓ หุ้นซึ่งโอนกันนั้น ถ้าเป็นหุ้นอันยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจํานวนค่าหุ้น ท่านว่าผู้โอนยังคงต้องรับผิดในจํานวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้น แต่ว่า (๑) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้อันหนึ่งอันใดของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังโอน (๒) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้เว้นแต่ความปรากฏขึ้นแก่ศาลว่าบรรดาผู้ที่ ยังถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ ข้อความรับผิดเช่นว่ามานั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้โอนเมื่อพ้นสองปีนับแต่ได้จดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

 

น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  091-8713937  แนะนำดังนี้

1.ความรับผิดของผู้โอนหุ้น ป.พ.พ. 1133 นั้น เป็นความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัท ไม่ใช่เป็นความรับผิดต่อบริษัท ฎีกา 2531/2538

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2531/2538

กรมสรรพากร

     โจทก์

นาย ประยูร ชีวาภรณาภิวัฒน์

     ผู้ร้อง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

     ผู้คัดค้าน

บริษัท ไทเกอร์ เจมส์ จำกัด

     จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 5, 1129, 1133

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119

 

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1129วรรคสามที่บัญญัติถึงการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้นั้นหมายถึงกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย ขณะที่มีการโอนขายหุ้นกันส. ผู้รับโอนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยแม้ส. จะรับโอนหุ้นไว้ในฐานะส่วนตัวแต่ในฐานะที่ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยอยู่ด้วยจึงต้องถือว่าบริษัทจำเลยร่วมรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้วบริษัทจำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนคนหนึ่งคนใดแจ้งให้ดำเนินการอีกการที่บริษัทจำเลยไม่ดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเองและการที่บริษัทจำเลยยกเหตุที่ไม่มีการจดแจ้งการโอนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ผู้โอนต้องรับผิดย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา5บริษัทจำเลยหรือผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระโดยอ้างว่าการโอนหุ้นไม่สมบูรณ์ตามมาตรา1129วรรคสามไม่ได้ส่วนมาตรา1133เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนหุ้นสำหรับจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่โอนหมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ไม่ได้หมายถึงว่าผู้โอนจะต้องรับผิดต่อบริษัทในเงินค่าหุ้นซึ่งตนยังส่งใช้ไม่ครบแม้จะได้โอนหุ้นไปแล้วผู้คัดค้านจึงเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา119ไม่ได้

 

________________________________

 

          ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลย โดยถือหุ้นอยู่ 180 หุ้น มูลค่าหุ้นละ1,000 บาท ชำระแล้วหุ้นละ 250 บาท คงค้างชำระค่าหุ้นรวม135,000 บาท ผู้ร้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2519 และในวันที่ 20 เมษายน 2519 ได้โอนหุ้นของผู้ร้องทั้งหมดให้นายสมศักดิ์ ฉันทนากร กรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยซึ่งถือว่าจำเลยรู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดแจ้งการโอนในทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อไม่จดแจ้งต้องเป็นความผิดของจำเลยเอง มูลหนี้ตามฟ้องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ร้องโอนหุ้นไปแล้ว ผู้ร้องไม่ต้องรับผิด ส่วนมูลหนี้ที่เกิดก่อนที่ผู้ร้องโอนหุ้นรวม 77,623.75 บาท นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะต้องเอาจากเงินค่าหุ้นที่เรียกเก็บจากนายจังซับ แซ่โป จำนวน 90,000 บาทเศษ ชำระก่อน ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นจึงไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 135,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายสมศักดิ์ ฉันทนากร เป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวเมื่อไม่มีการแก้ไขทางทะเบียนผู้ถือหุ้น จึงต้องถือว่าบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2518 เป็นเอกสารที่ถูกต้องและแท้จริง ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในมูลหนี้ที่ค้างชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และเมื่อการโอนหุ้นของผู้ร้องไม่ชอบแล้ว ผู้ร้องก็จะอ้างประโยชน์จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 ไม่ได้ ทั้งหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นภาษีค้างชำระตั้งแต่ปี 2518-2521 ซึ่งมีทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและในขณะโอนหุ้นซึ่งผู้ร้องยังคงต้องรับผิดชอบ และหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ก็มีจำนวนถึง 4,695,119.97 บาท ดังนั้น แม้จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมดชำระก็ยังไม่พอชำระหนี้ ขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ร้องเคยเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นในบริษัทจำเลย จำนวน 180 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 250 บาท คงค้างชำระอีกหุ้นละ 750 บาทรวมเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระทั้งสิ้น 135,000 บาท ในปี 2519ผู้ร้องลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยและโอนขายหุ้นทั้งหมดให้แก่นายสมศักดิ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยต่อจากผู้ร้อง โดยได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นกันณ ที่ทำการบริษัทจำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.10 แต่การโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายสมศักดิ์ยังมิได้มีการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะต้องรับผิดชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบให้แก่ผู้คัดค้านหรือไม่เพียงใดศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสาม บัญญัติถึงการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้นั้น หมายถึงกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย กฎหมายจึงบัญญัติให้ถือตามที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้น แต่กรณีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่มีการโอนขายหุ้นกันนั้น นายสมศักดิ์ผู้รับโอนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย ดังนี้แม้นายสมศักดิ์จะรับโอนหุ้นไว้ในฐานะส่วนตัว แต่ในฐานะที่นายสมศักดิ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยอยู่ด้วย จึงต้องถือว่าบริษัทจำเลยร่วมรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้ว บริษัทจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนคนหนึ่งคนใดแจ้งให้ดำเนินการอีก การที่บริษัทจำเลยไม่ดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเองนอกจากนี้ยังเป็นที่เห็นได้ว่า การที่บริษัทจำเลยมีหน้าที่ต้องจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแต่กลับละเลยเพิกเฉยไม่จดแจ้งการโอน แล้วจะกลับมายกเหตุที่ไม่มีการจดแจ้งการโอนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ผู้โอนต้องรับผิดเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 อีกด้วยบริษัทจำเลยหรือผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระโดยอ้างเหตุว่าการโอนหุ้นไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม ไม่ได้ส่วนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนหุ้นสำหรับจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่โอนนั้นด้วย หมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ หาได้หมายถึงว่าผู้โอนยังจะต้องรับผิดต่อบริษัทในเงินค่าหุ้นซึ่งตนยังส่งใช้ไม่ครบแม้จะได้โอนหุ้นดังกล่าวไปแล้วแต่อย่างใดไม่ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติใน (1) และ (2) ที่ให้รับผิดเฉพาะในหนี้ของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนโอน และให้รับผิดต่อเมื่อผู้ที่ยังถือหุ้นอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าหนี้ของบริษัทกับผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยเฉพาะ ฉะนั้น คดีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่บริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบอันผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 ได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย"

          พิพากษากลับ ให้ จำหน่าย ชื่อ ผู้ร้อง ออกจาก บัญชี ลูกหนี้ ของบริษัท จำเลย

 

 ( สะสม สิริเจริญสุข - สมาน เวทวินิจ - ทองเลื่อน พูลพิพัฒน์ )

 

PS ThaiLaw.com  ได้นำฎีกาเต็ม 2531/2538 จากระบบสืบค้นคำพิพากษามาลงไว้แล้วครับ

***  ท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับคดี ต้องการปรึกษาทนาย กรุณาติดต่อน้าสิด ที่เบอร์ 086-3779678    หรือ   E-mail: Pongrut.ku40@gmail.com นะครับ 

 

ตัวอย่างสัญญาโอนหุ้น ของสำนักงานทนายความพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์

สัญญาโอนหุ้น

 

บริษัท………………………………………..จำกัด

 

               สัญญานี้ทำขึ้น ณ …………………………………………………………………………

 เมื่อวันที่…………..เดือน…………….……….พ.ศ……………….. เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการโอนหุ้นของบริษัท…………………………………………..จำกัด ดังมีข้อความต่อไปนี้

              ข้อ 1. ผู้โอนชื่อ………………………………บัตรประชาชนเลขที่………………………

              ข้อ 2. ผู้รับโอนชื่อ……………………………บัตรประชาชนเลขที่………………………

              ข้อ 3. โอนหุ้นจำนวน………….หุ้น หมายเลขหุ้นตั้งแต่เลขที่…………..ถึงเลขที่…………

              ข้อ 4. ผู้โอนตกลงโอนและผู้รับโอนตกลงรับโอนหุ้นดังกล่าวข้างบนนี้ โดยการ…………

  ……………………………..แก่กัน ตั้งแต่วันที่………….เดือน…………………พ.ศ……………

  เป็นราคาทั้งสิ้น………………….บาท (……………………………………) ผู้โอนยอมขาดจาก    การเป็นผู้ถือหุ้น และผู้รับโอนยอมเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนี้ตั้งแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป

              ข้อ 5. ผู้โอนได้รับเงินค่าโอนไปถูกต้องด้วยแล้วในวันทำสัญญานี้

              ข้อ 6. ผู้โอนตกลงโอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหลายที่ผู้โอนพึงมีพึงได้รับจากบริษัททั้งก่อนในขณะและภายหลังวันโอนนี้ให้แก่ผู้รับโอนด้วย โดยให้ถือว่าผู้โอนได้รับค่าตอบแทนสิทธิและ ประโยชน์ที่โอนให้แก่ผู้รับโอนดังกล่าวรวมอยู่ในเงินค่าโอนตามสัญญานี้ด้วยแล้ว

 

 

ลงชื่อ……………………………….ผู้โอน                 ลงชื่อ……………………………….ผู้รับโอน

     (………………………………….)                               (………………………………….)              

 

ลงชื่อ……………………………….พยาน                 ลงชื่อ……………………………….พยาน

     (………………………………….)                               (………………………………….)

อนุมัติให้โอนได้

ลงชื่อ……………………………….กรรมการ           ลงชื่อ……………………………….กรรมการ

     (………………………………….)                               (………………………………….)