เรื่องที่12 การฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลาย มีหลักเกณฑ์อย่างไรครับ

     

น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์      รัตนพงศ์  ร่วมกับ พี่ชายน้อย ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  ทนายหนูเพียร สามนต์ เรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชาชน

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1070 และมาตรา 1077 (2)

มาตรา 1070 เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกัน ในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง

พ.ร.บ.ล้มละลายมาตรา 89

มาตรา  89  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้  โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่

พี่ชายน้อย ทนายศักดิ์ชาย   ทุ่งโชคชัย  น.บ.ท.59 มีความเห็นดังนี้

          การฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายมาพร้อมกับการฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ในการพิจารณาของศาลล้มละลาย หากว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนเด็ดขาดแล้ว ศาลล้มละลายสามารถมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โดยเด็ดขาดหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไปได้เลย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เนื่องจากหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1070และมาตรา 1077 (2) หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องล้มละลายตามห้างฯ ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 89

พี่ทนายหนูเพียร    สามนต์  มีความเห็นว่า ควรศึกษาเรื่องนี้จากฏีกาที่ 94/2547 

ซึ่งศาลวินัจฉัยไว้ดังนี้

        ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนให้จำเลยในคดีดังกล่าวดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วเพราะการเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 หาใช่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่ ดังนั้น เมื่อในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้จำเลยที่ 3 ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 3 จึงหาหลุดพ้นจากความผิดรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ แต่ต้องร่วมรับผิดบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 และ 1077 (2)

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เด็ดขาด และโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ แล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้มีคำขอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 89 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจะได้มีการแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้วหรือไม่

น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ขอสรุปเรื่องนี้ไว้ดังนี้

         ในการพิจารณาหากได้ความว่าบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างฯ ในขณะที่มีการฟ้องขอให้ล้มละลายแล้ว ก็เป็นกรณีที่ไม่อาจขอให้บุคคลดังกล่าวล้มละลายตามห้างฯได้ตามมาตรา 89 และหากยังได้ความต่อไปว่าบุคคลนั้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดห้างฯ เกินกว่า 2ปี นับแต่วันที่โจทย์ยื่นฟ้องแล้ว บุคคลดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้ห้างฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068

คำพิพากษาฎีกาที่ 94/2547(ฉบับเต็ม)

ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนให้จำเลยในคดีดังกล่าวดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วเพราะการเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 หาใช่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่ ดังนั้น เมื่อในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้จำเลยที่ 3 ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 3 จึงหาหลุดพ้นจากความผิดรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ แต่ต้องร่วมรับผิดบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 และ 1077 (2)

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เด็ดขาด และโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ แล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้มีคำขอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 89 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจะได้มีการแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้วหรือไม่


โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า หนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จำเลยที่ 1 มิได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเนื่องจากโครงการขายบ้านของจำเลยที่ 1 ขายหมดแล้ว และมิได้ดำเนินกิจการใดอีก จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2534 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 มิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติลัมละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

        ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าของปี 2525 ถึง 2527 เป็นเงินทั้งสิ้น 15,200,748 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินโดยวิธีปิดหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2529 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ภายในกำหนด และมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย หนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามที่เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งประเมินไว้ โจทก์ได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ 24,675 บาท จำเลยที่ 1 คงค้างชำระภาษีอากรจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,176,073 บาท ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีในหมายเลขแดงที่ 22471/2534 และหมายเลขแดงที่ 13636/2530 ของศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2534 ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อของจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 152/2534 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรดังกล่าวของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2534 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในปี 2538 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้วเพราะเกิน 2 ปี นับจากวันที่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยในคดีดังกล่าวดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียน กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว เพราะการเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022 หาใช่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่ เมื่อจำเลยที่ 3 นำสืบรับว่าภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยที่ 3 จึงไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.3 ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้ จำเลยที่ 3 ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 3 จึงหาหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามที่อ้างไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ภาษีอากรถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,176,073 บาท จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนจึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อต่อไปว่า โจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 3 ทราบ จึงถือไม่ได้ว่าหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 บัญญัติว่า "เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่" คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วและเมื่อพิจารณาคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้มีคำขอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตามกฎหมายดังกล่าวโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจะได้มีการแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 3 ทราบหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 (2) ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้ออื่นเนื่องจากไม่มีผลให้คดีเปลี่ยนแปลง

อนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ 3 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด เป็นการฎีกาคำพิพากษาซึ่งพิพากษาตามฟ้องขอให้ล้มละลาย ต้องเสียค่าขึ้นศาลสำหรับคำฟ้องฎีกา 50 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (1) แต่จำเลยที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลฎีกามา 200 บาท จึงเสียเกินมา 150 บาท เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่จำเลยที่ 3"

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 150 บาท แก่จำเลยที่ 3

***ถ้าประชาชนท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับคดี อยากปรึกษาทนายความหรืออยากหาทนายความโปรด ติดต่อน้าสิด Tel:086-377-9678  หรือ E-mail:pongrut.ku40@gmail.com น้าสิดจะติดต่อท่านกลับโดยเร็วที่สุด