เรื่องที่ 16/2563 ผลของการเลิกสัญญา ตาม ป.พ.พ. 391

     

หลักกฎหมาย ป.พ.พ.  มาตรา 391  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64   

โทร. (091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ  

 

น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  เห็นว่า  ป.พ.พ.391  ผลของการเลิกสัญญา เกี่ยวข้องกับ  ป.พ.พ. 392 และ ป.พ.พ. 369  ซึ่งทนายความรุ่นใหม่ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างชัดแจ้ง

มาตรา 392  การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369

มาตรา 369  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

 

ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  น.บ.ท.59   (097-259-0623)   สืบค้นแล้วมีหลักกฎหมาย ดังนี้

         1.  เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคแรกสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจึงเป็นอันสิ้นสุดลง  ดังนั้นคู่สัญญาจะฟ้องบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญานั้นอีกไม่ได้  ดูฎีกาที่ 5363/2545 , 2431/2552

         ฎีกาที่ 5363/2545  เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคแรก  โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดราคารถยนต์เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังขาดได้เพราะจะมีผลเท่ากับบังคับให้จำเลยที่ 1  ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปแล้ว  หากโจทก์ยังได้รับความเสียหาย ในส่วนราคารถยนต์ที่ขาด  โจทก์สามารถเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391  วรรคท้าย  แต่ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกได้นี้คือ ค่าขาดราคาไปจากราคารถยนต์ที่แท้จริง  ไม่ใช่ค่าขาดราคาไปจากราคาค่าเช่าซื้อ

         ฎีกาที่ 2431/2552  โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1  โดยชอบ และยึดรถยนต์ที่ให้เช่าคืนจากจำเลยที่ 1  สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1  ย่อมสิ้นสุดลง  คู่สัญญาเช่าแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391  วรรคหนึ่ง  โจทก์จะอาศัยสัญญาเช่ามาฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอีกมิได้  จะเรียกได้ก็แต่เพียงค่าที่จำเลยที่ 1  ได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์อยู่ตามมาตรา 391 วรรคสามเท่านั้น

         ฎีกาที่ 9514/2544  สัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดนัดยอมให้ผู้จะขายริบเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมดกับให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าว  ดังนั้น เมื่อผู้จะซื้อไม่ชำระหนี้  สัญญาจึงเลิกกัน  เงินที่ผู้จะซื้อชำระหนี้ให้ผู้จะขายไปแล้วจะต้องคืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391  แม้จะมีข้อตกลงให้ริบโดยไม่ต้องคืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิม  ข้อตกลงให้ริบดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379  และเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน  ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลง ให้เหลือเป็นจำนวนเงินพอสมควรได้

         2.  การกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  ถ้าต้องใช้คืนเงินให้แก่กัน  ให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย  คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้  ทั้งนี้ตามมาตรา 391 วรรคสอง  สำหรับอัตราดอกเบี้ย  หากไม่มีกำหนดไว้ในสัญญาก็ต้องคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 7 (ฎ.1378/2546)  การคิดดอกเบี้ยในกรณีนี้มิใช่การคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด และเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 391 วรรคสองได้  แม้สัญญาไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยในกรณีผิดสัญญาไว้ก็ตาม  ดูฎีกาที่ 5196/2548

         ฎีกาที่ 5196/2548  เมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้ว  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง  ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับให้แก่โจทก์และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่รับไว้ด้วย  ซึ่งการคิดดอกเบี้ยในกรณีเช่นนี้  ไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด  แต่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว  โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้  แม้ตามสัญญาจะไม่ได้คิดดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดจากจำเลยในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไว้ก็ตาม  แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง

 

ทนายอัม ปิยะอัมพร  สุกแก้ว  (061-561-9514) สืบค้นแล้วมีหลักกฎหมาย ดังนี้

การใช้ค่าการงาน  (มาตรา 391 วรรคสาม)

         1.  เมื่อได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วมีผลตามมาตรา 391  คือ คู่กรณีแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม  การงานที่ได้กระทำไปแล้วกลับคืนฐานะเดิมด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามมาตรา 391 วรรคสาม  ตามวรรคนี้ส่วนมากเป็นเรื่องสัญญาจ้างทำของที่ผู้รับจ้างได้ทำงานไปบ้างแล้ว  ผู้ว่าจ้างต้องมีการชดใช้ค่าก่อสร้าง ที่ผู้รับจ้างทำไปแล้ว จะให้ผู้รับจ้างรื้องานที่ทำไปแล้วไม่ได้  ดูฎีกาที่ 175/2521

         ฎีกาที่ 175/2521  โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยปลูกสร้างโรงภาพยนตร์และตึกแถวลงในที่ดินของโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเองโดยโจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 20 ปี  จำเลยปลูกสร้างโรงภาพยนตร์และตึกแถวผิดแบบแปลน เป็นการผิดสัญญา  โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว  ดังนี้ ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 391  มาปรับแก่คดี เมื่อจำเลยได้ปลูกสร้างโรงภาพยนตร์และตึกแถวลงในที่ดินของโจทก์เสร็จแล้ว  การที่จะให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังเป็นอยู่เดิมได้ ก็ด้วยการที่จำเลยต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์  และโจทก์ต้องชดใช้ค่าก่อสร้าง อันเป็นผลงานที่จำเลยได้สร้างลงไปแล้วเท่านั้น จะให้คืนสู่ฐานะเดิม โดยให้จำเลยต้องรื้อโรงภาพยนตร์และตึกแถวออกไปโดยโจทก์มิได้ชดใช้ค่าก่อสร้าง อันเป็นผลงานที่จำเลยทำลงไปแล้วให้จำเลยไม่ได้  เพราะเท่ากับจำเลยไม่ได้คืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์จึงจะฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนโรงภาพยนตร์และตึกแถวออกไป ไม่ได้ และจะเรียกค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดิน ไม่ได้ด้วย แต่กรณีดังกล่าวเมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว  สัญญาและข้อผูกพันต่าง ๆ ในสัญญาก่อสร้างก็ต้องสิ้นสุดลงไปด้วย  จำเลยไม่สิทธิที่จะเช่า หรือครอบครองโรงภาพยนตร์และตึกแถวตามที่กำหนดไว้ในสัญญาก่อสร้างอีก โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ห้ามจำเลยและบริวาร เกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ได้

         ความรับผิดค่าใช้ทรัพย์  (มาตรา 391 วรรคสาม)

         2.  หลังจากสัญญาเลิกกันแล้ว  หากคู่สัญญายังคงครอบครองทรัพย์สินที่ต้องคืนให้แก่กันก็ต้องรับผิดค่าใช้ทรัพย์ ตลอดระยะเวลาที่ครอบครองทรัพย์นั้น  โดยต้องใช้เป็นเงินตามควรตามมาตรา 391 วรรคสาม  ดูฎีกาที่ 1789/2532 , 3399/2548

         ฎีกาที่ 1789/2532  การที่โจทก์ผู้จะขายได้มอบตึกแถวและที่ดินที่จะขายให้แก่จำเลยผู้จะซื้อตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น  เป็นการชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลย  ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย  และเป็นผลให้จำเลยได้ใช้ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาอันได้แก่การที่โจทก์ยอมให้ใช้ทรัพย์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคสาม  เมื่อสัญญาเลิกกันจำเลยจะต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิมด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการใช้ตึกแถวและที่ดินนั้น แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเป็นค่าเสียหาย  แต่ตามสภาพเป็นการชดใช้ค่าที่ยอมให้ใช้ทรัพย์  ดังนี้ ศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์ได้รับการชดใช้ได้

         ฎีกาที่ 3399/2548  เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้ว  โจทก์ที่ 1  ต้องคืนห้องชุดให้แก่จำเลยที่ 1  และจำเลยที่ 1  ก็ต้องคืนค่างวดและเงินดาวน์ให้แก่โจทก์ที่ 1  พร้อมดอกเบี้ย  และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1  ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในห้องชุดมาตลอดเช่นนี้  ถือได้ว่าเป็นการงานอันที่จำเลยที่ 1  ได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์สินนั้น  โจทก์ที่ 1  จึงต้องชดใช้เงินตามควรตามมาตรา 391 วรรคสาม

         3.  กรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยาย  มิใช่เป็นการเลิกสัญญาเพราะความผิดของผู้เช่าซื้อ  ผู้ให้เช่าซื้อ จะฟ้องผู้เช่าซื้อให้รับผิดค่าขาดราคาตามข้อสัญญา ไม่ได้  แต่ยังคงมีสิทธิฟ้องให้ผู้เช่าซื้อรับผิด ในค่าใช้ทรัพย์ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสามได้  ดูฎีกาที่ 12448/2557

         ฎีกาที่ 12448/2557  สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1  เลิกกันโดยปริยายเมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547  ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยจำเลยที่ 1  มิได้โต้แย้ง  มิใช่เป็นการเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยที่ 1  ผิดสัญญา  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การชดใช้คืนย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม  จำเลยที่ 1  มีเพียงความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์  เป็นค่าใช้ทรัพย์ หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1  ครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อ  โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์  ส่วนค่าเสียหายอื่นที่เป็นค่าขาดราคารถ  ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ก่อนสัญญาเลิกกัน และค่าติดตามยึดรถ  โจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้

 

ทนายดวงพร  ยินดี   (097-298-9887)   สืบค้นแล้วมีหลักกฎหมาย ดังนี้

         1.  คำพิพากษาในคดีเช่าซื้อรถยนต์  การกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ควรกำหนด ระยะเวลาที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไว้ด้วยเพราะรถยนต์ต้องเสื่อมสภาพไปตามปกติของการใช้  ดูฎีกาที่ 560/2543

         ฎีกาที่ 560/2543  จำเลยที่ 1  ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ภายหลังเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญา  ความเสียหายจึงเกิดแก่โจทก์ตลอดเวลา จนกว่าจำเลยจะส่งมอบรถยนต์คืน หรือชดใช้ราคา  ศาลจึงต้องกำหนดค่าเสียหาย เป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์ จนกว่าจำเลยจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือชดใช้ราคา  โดยค่าเสียหายนี้ ควรกำหนดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดไว้ด้วย เพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมเสื่อมสภาพไปตามปกติของการใช้  ทั้งโจทก์เองก็ควรรีบเร่งในการบังคับคดี  มิใช่มุ่งบังคับเอาค่าเสียหายแก่จำเลย โดยไม่มีที่สิ้นสุด

         2.  การฟ้องเรียกค่าใช้ทรัพย์ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้  จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม     ป.พ.พ.มาตรา 193/30  ดูฎีกาที่ 2063/2559

         ฎีกาที่ 2063/2559  การฟ้องเรียกค่าใช้ทรัพย์  เป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความใช้บังคับโดยตรง  จึงต้องนำบทบัญญัติกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30  มาใช้บังคับ  ซึ่งกำหนดให้มีอายุความ 10 ปี  เมื่อนับจากที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันถึงวันฟ้อง  ยังไม่เกิน 10 ปี  ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าใช้ทรัพย์จึงไม่ขาดอายุความ

         เรื่องนี้  ค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์สืบเนื่องมาจากสัญญาเช่าซื้อ แต่ค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ที่สืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด  ย่อมมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448  ดูฎีกาที่ 1696/2559

         ฎีกาที่ 1696/2559  โจทก์ที่ 1  ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ที่ 1  ต้องขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาท  แต่สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด  ค่าเสียหายส่วนที่เกิน 1 ปี  ย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448  โจทก์ที่ 1  มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ปี

 

ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์   (086-104-4545) สืบค้นแล้วมีหลักกฎหมาย ดังนี้เห็นว่า

         การเลิกสัญญาไม่กระทบถึงสิทธิเรียกค่าเสียหาย  (มาตรา 391 วรรคท้าย)

         เมื่อมีการเลิกสัญญาแล้ว  ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้อีกตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคท้าย  ซึ่งหมายถึง การเลิกสัญญานั้น ไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้น จากการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  ดูฎีกาที่ 2956 /2548  ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เจ้าหนี้ มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามมาตรา 213 , 215  ก่อนสัญญาเลิกอยู่แล้ว  ดูฎีกาที่ 638/2556      

         ฎีกาที่ 2956/2548  ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคสี่  บัญญัติว่า  การใช้สิทธิเลิกสัญญาหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่  มีความหมายว่า  การเลิกสัญญานั้น  ไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นจากการที่ลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้ ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้ ในกรณีที่การเลิกสัญญานั้นเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย โดยลูกหนี้มิได้ผิดสัญญา  ทั้งค่าเช่าที่โจทก์ยังไม่ได้รับ เป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในเวลาที่มีการบอกเลิกสัญญากัน  จึงมิใช่หนี้ค้างชำระ ที่จำเลยต้องรับผิด  โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญา

         ข้อสังเกต  การใช้สิทธิเลิกสัญญา  ย่อมมีผลเป็นการทำลายสัญญาอันเป็นมูลแห่งหนี้เมื่อสัญญาไม่มีอยู่  หนี้ตามสัญญาก็ต้องระงับไป  ดังนั้น  คู่สัญญาจึงจะฟ้องร้องเพื่อบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาอีกไม่ได้  (ฎ. 2568/2521 , 2431/2552)  แต่ต้องเข้าใจว่าหนี้ตามสัญญาเท่านั้นที่ระงับไป  หากเป็นกรณีที่มีการผิดสัญญาก็จะเกิดความรับผิดจากการไม่ชำระหนี้เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งในส่วนนี้ หาได้ระงับไปพร้อมกับหนี้ตามสัญญาด้วยไม่  (ฎ.1123/2514)  บทบัญญัติมาตรา 391 วรรคท้าย  จึงได้บัญญัติไว้ว่าการใช้สิทธิเลิกสัญญาหาได้กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่  นอกจากนี้ผลของการเลิกสัญญา ยังไม่กระทบกระทั่งสิทธิในมัดจำและเบี้ยปรับ อีกด้วย  (มาตรา 378 (2) , 379)

         ฎีกาที่ 638/2556  ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคสี่  บัญญัติว่า  “การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่”  บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าการเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นแล้ว  กล่าวคือถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ตนเองไม่ชำระหนี้แล้วการไม่ชำระหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย  เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 213 , 215  บทบัญญัติมาตรา 391  มิได้ให้สิทธิพิเศษที่จะเรียกค่าเสียหาย ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากัน โดยลูกหนี้มิได้ค้างชำระหนี้ หรือผิดสัญญาด้วย

         ฎีกาที่ 16531/2557  จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา  โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตามข้อสัญญา  เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว  สัญญาเช่าเป็นอันต้องเลิกกัน เพราะการบอกเลิกสัญญาของโจทก์และการใช้สิทธิเลิกสัญญา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคสี่  เมื่อการเลิกสัญญา เกิดจากการที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของมูลหนี้ ที่โจทก์มีความประสงค์จะเช่าพื้นที่ตามสัญญา เพื่อประกอบอาชีพของโจทก์และเกิดความเสียหายแก่โจทก์เจ้าหนี้  โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 215

วันที่  16  เมษายน  2563  ขณะที่  PS thaiLaw.com  (091-871-3937)  เรียบเรียงบทความจากเนื้อหาในหนังสือแพ่งพิสดาร  เล่ม 1  ของอาจารย์วิเชียร  ดิเรกอุดมศักดิ์  การแพร่ระบาดของ COVID-19 ปรากฏตามภาพข้างล่าง