เรื่องที่ 1 ช่วยไขปัญหาการบังคับคดีล้มละลาย

     

น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ ถูกถามบ่อยครั้ง จึงขอนำเอกสารของศาลล้มละลายกลาง เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเผยแพร่ เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชนครับ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คือใคร?

                   เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คือ เจ้าพนักงานตามกฎหมายล้มละลายที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายและดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้ให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลาย

ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่า ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลาย ก็ไม่มีสิทธิที่จะจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองได้ใช่หรือไม่?

                   ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แม้กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ตาม แต่ถ้าลูกหนี้ได้รับคำสั่งหรือความเห็นชอบจากศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้แล้วลูกหนี้ก็ยังสามารถที่จะจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้

เมื่อศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ต้องทำอย่างไร?

                   ก่อนอื่นลูกหนี้ต้องไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้การสาบานตัวและให้ถ้อยคำชี้แจงเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองว่ามีประการใดบ้าง รวมทั้งต้องส่งมอบทรัพย์สินบัญชีและเอกสารอื่น ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรณีลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล ผู้ที่มีหน้าที่นี้ก็คือ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยต้องนำส่งดวงตราของห้างฯ หรือบริษัทด้วย ซึ่งการไปให้การสอบสวนนี้ต้องไปด้วยตนเอง จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปแทนไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งในวันสอบสวนลูกหนี้ต้องทำบัญชีแสดงกิจการและทรัพย์สินยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย เพื่อที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้นำเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา

หลังจากการไปให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้มีหน้าที่อย่างอื่นอีกหรือไม่?

                   นอกจากไปให้การสอบสวนแล้ว ลูกหนี้ยังมีหน้าที่ต้องไปร่วมประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง และต้องไปศาลในวันนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย หากลูกหนี้มีสิทธิได้รับทรัพย์สินจะต้องรายงานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจะต้องจัดทำบัญชี รับ-จ่าย มาแสดงทุก 6 เดือน และในกรณีย้ายที่อยู่ใหม่จะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบด้วย

ลูกหนี้จะมีสิทธิทำอะไรได้บ้าง?

                   นอกจากจะมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนเองตามที่ได้รับความเห็นชอบจากศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าว ลูกหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะยื่นคำขอประนอมหนี้ ไม่ว่าก่อนการล้มละลายหรือภายหลังการล้มละลายแล้วนอกจากนี้ยังมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ ถ้าหากมีทรัพย์สินที่รวบรวมมาได้ระหว่างการล้มละลาย และอาจขอให้ปลดจากการล้มละลายหรือยกเลิกการล้มละลายของตนเองได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดและเมื่อหลุดพ้นจากการล้มละลายแล้ว หากมีเงินเหลือก็มีสิทธิได้รับคืนด้วยในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้

นอกจากการห้ามจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองแล้ว ยังห้ามทำอะไรอีก?

                   ก็มี คือ ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล นอกจากนั้นจะต้องมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 7 วัน นับแต่เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรถ้าไม่มารายงานตัวอาจเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ และก็ห้ามรับสินเชื่อจากบุคคลอื่นที่มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป เว้นแต่จะได้แจ้งให้บุคคลนั้นทราบว่าตนเป็นบุคคลล้มละลายอีกประการหนึ่ง คือ ห้ามดำเนินคดีใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนด้วย

จะทราบได้อย่างไรว่า จะมีเจ้าหนี้กี่ราย และจำนวนที่ขอรับชำระหนี้มีเท่าใด?

                   จะทราบได้ในวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจคำขอรับชำระหนี้ก็คือ เมื่อศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะดำเนินการประกาศคำสั่งในหนังสือพิมพ์รายวันหนึ่งฉบับและนำไปลงในราชกิจจานุเบกษาด้วย ซึ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายหากประสงค์จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ก็ต้องมายื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่ง ซึ่งในทางปฏิบัติจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นวันที่หลังจากการลงประกาศในหนังสือพิมพ์ หากเจ้าหนี้ไม่มายื่นขอรับชำระหนี้จากลูกหนี้อีก แม้ภายหลังลูกหนี้จะพ้นจากการล้มละลายไปแล้วก็ตาม เว้นแต่เจ้าหนี้ที่มีประกันเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ก็อาจไม่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ แต่ก็ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน แต่หากประสงค์จะขอรับชำระหนี้ ก็ต้องดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเช่นกันโดยต้องระบุเงื่อนไขในการขอรับชำระหนี้ไว้ตามกฎหมาย

ถ้าเห็นว่าหนี้เจ้าหนี้นำมายื่นขอรับชำระหนี้นั้น ไม่ถูกต้อง จะคัดค้านได้หรือไม่?

                   ได้แน่นอน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเจ้าหนี้ด้วยกันหรือลูกหนี้ก็สามารถโต้แย้งการยื่นขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง โดยต้องยื่นคำโต้แย้งเป็นหนังสือพร้อมสำเนาภายใน 7 วัน นับแต่ตรวจคำขอรับชำระหนี้ และต้องนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนตามกำหนดนัดต่อไป

แล้วเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลูกหนี้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ด้วยหรือไม่?

                   แม้จะเป็นเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์ก็ต้องยื่นขอรับชำระหนี้เหมือนกับบรรดาเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ตามมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เอาไปฟ้องก็ตาม

นอกจากจะต้องยื่นขอรับชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีหน้าที่จะต้องทำอะไรอีกบ้าง?

                   นอกจากการที่ต้องมายื่นขอรับชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์แล้ว ซึ่งหากเป็นกรณีพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ก็ต้องวางเงิน จำนวน 8,000 บาท หากเป็นกรณีพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ก็ต้องวางเงินจำนวน 10,000 บาท และหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้วางค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก็ต้องนำมาวางด้วย โดยค่าใช้จ่ายนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็จะได้รับคืนในภายหลังหากสามารถรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ นอกจากการวางเงินแล้วก็ยังมีหน้าที่ระวังดูแลประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลายและช่วยเหลือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น การสืบหาทรัพย์สิน การนำยึดทรัพย์สิน เป็นต้น และในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายนัด เช่น ให้มาสอบสวน นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ประชุมเจ้าหนี้หรือนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ก็ควรจะไปตามนัดเพื่อจะได้ระวังดูแลรักษาประโยชน์ของตน หากมีการย้ายหรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ก็ควรมาแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบด้วย เพราะหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถติดต่อได้และไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นรับเป็นโจทก์แทน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจจะรายงานศาลขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ได้

วิธีการยื่นขอรับชำระหนี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง?

                   ก่อนอื่นท่านที่เป็นเจ้าหนี้ต้องไปติดต่อขอรับแบบพิมพ์คำขอรับชำระหนี้ (ล.29) ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อนำมากรอกข้อความซึ่งจะให้ท่านระบุถึงประเภทหนี้ จำนวนที่ขอรับชำระหนี้ ทรัพย์หลักประกันรวมถึงพยานหลักฐานแห่งมูลหนี้ ซึ่งท่านต้องกรอกให้ครบถ้วนชัดเจนและแนบต้นฉบับที่เป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ให้เรียบร้อย ซึ่งท่านอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดมายื่นก็ได้ โดยใช้ใบมอบอำนาจตามแบบพิมพ์ของกรมบังคับคดีหากเจ้าหนี้เป็นนิติบุคคลก็ต้องมีหนังสือรับรองของนายทะเบียนด้วยโดยในวันที่มายื่นขอรับชำระหนี้ ท่านอาจทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ โดยบรรยายถึงที่มาแห่งมูลหนี้ของท่านโดยละเอียด ซึ่งหากไม่เป็นที่สงสัยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะไม่เรียกท่านมาให้การสอบสวนอีก

ในการยื่นขอรับชำระหนี้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่?

                   ท่านต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นขอรับชำระหนี้ด้วย ในอัตรา 200 บาท แต่หากเป็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือหนี้ไม่เกิน 50,000 บาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

มูลหนี้อะไรบ้างที่จะยื่นขอรับชำระหนี้ได้?

                   หนี้ที่จะยื่นได้จะต้องเป็นหนี้ที่มีมาก่อนวันที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และจะต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือเป็นหนี้ที่ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้และต้องไม่เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ทำขึ้น โดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

จะยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่ไหน?

                   ปัจจุบันกรมบังคับคดีมีนโยบายให้ความสะดวกแก่ประชาชนโดยทั่วไป ท่านสามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดทั่วประเทศหรือในส่วนกลางก็สามารถยื่นได้ที่ ฝ่ายคำคู่ความ สำนักงานเลขานุการกรม

เมื่อยืนขอรับชำระหนี้แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าจะได้รับชำระหนี้หรือไม่ และจะได้รับชำระหนี้เมื่อไร?

                   เมื่อท่านยื่นขอรับชำระหนี้แล้ว หากท่านยังไม่ได้นำส่งพยานหลักฐานให้ครบถ้วน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีหมายนัดท่านมาให้การสอบสวนเมื่อท่านมาให้การสอบสวนแล้วหรือกรณีที่ไม่มา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะพิจารณาจากพยานหลักฐานเท่าที่มีอยู่และทำความเห็นเสนอศาล เมื่อศาลมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้แจ้งคำสั่งศาลให้ท่านทราบ ซึ่งหากท่านไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลได้ ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง หากศาลมีคำสั่งให้ท่านได้รับชำระหนี้และไม่มีคู่ความอุทธรณ์ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ก็จะทำการแบ่งทรัพย์สินให้ท่าน โดยที่ท่านจะได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยตามจำนวนหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ท่านมีสิทธิได้รับ เว้นแต่ท่านจะเป็นเจ้าหนี้มีประกันและได้ขอรับชำระหนี้ โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกัน ท่านก็จะได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น หากยังขาดอยู่เป็นจำนวนเท่าใด ท่านก็จะได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยเหมือนกับเจ้าหนี้รายอื่น แต่หากคดีนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เลย เจ้าพนักงานจะงดพิจารณาทำความเห็นเสนอศาลไว้ จนกว่าจะมีการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้

ถ้าหากลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้บุคคลอื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำอย่างไร?

                   ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้บุคคลอื่นอยู่ถ้าหนี้นั้นยังไม่มีการฟ้องเรียกร้องให้ชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะมีหนังสือทวงหนี้ไปให้บุคคลนั้นชำระหนี้ หากบุคคลนั้นยอมรับว่าเป็นหนี้ ก็จะเรียกให้มาชำระหนี้ต่อไป หากไม่มา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะรายงานศาลเพื่อขอออกหมายบังคับคดี แต่ถ้าบุคคลนั้นปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะเรียกมาสอบสวน หากเห็นว่าเป็นหนี้ก็จะแจ้งยืนยันหนี้ให้ทราบ หากไม่ได้เป็นหนี้ก็จะจำหน่ายชื่อออกจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งยืนยันหนี้บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนด 14 วัน นับแต่ได้รับหนังสือยืนยันหนี้ หากไม่ได้ปฏิเสธหนี้หรือไม่คัดค้านการยืนยันหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีต่อไป สำหรับคดีที่มีการฟ้องเรียกร้องไว้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะเข้าไปดำเนินการแทนลูกหนี้ ส่วนกรณีที่ลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป

หากได้รับความเสียหายจากการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

จะทำอะไรได้บ้าง?

                   ในกรณีดังกล่าวที่ท่านได้รับความเสียหายไม่ว่าท่านจะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ท่านสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเพื่อให้วินิจฉัยได้ภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น

จะต้องทำอย่างไร? หากลูกหนี้ล้มละลายต้องเดินทางไปต่างประเทศ

“หากลูกหนี้ในคดีล้มละลายมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ สามารถขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หากได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้...”

  1. ไปให้การสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามหมายเรียก
  2. ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตลอดจนให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้โดยสุจริตทุกครั้ง

วิธีปฏิบัติ คือ

  • ยื่นคำร้อง (ตามแบบฟอร์ม) ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แสดงเหตุจำเป็นจะต้องเดินทางออกนอกประเทศ โดยแจ้งรายละเอียดว่าจะไปประเทศใด ในเวลาใด ไปทำอะไร กำหนดกลับเมื่อใด และค่าใช้จ่ายใครเป็นผู้ออกให้
  • เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะพิจารณาดำเนินการตามข้อ 1 ข้อ 2 และมีคำสั่งอนุญาต

                   จะเห็นได้ว่าการเดินทางออกนอกประเทศของลูกหนี้ไม่ใช่เรื่องยากลำบากและการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นซึ่งเป็นการให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นจะมีผลทำให้ลูกหนี้ได้รับการปลดจากการล้มละลายเร็วขึ้นนั่นก็คือ ลูกหนี้จะได้รับการปลดจากการล้มละลายภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย โดยผลของกฎหมายอันจะทำให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเอง และสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกต่อไป